xs
xsm
sm
md
lg

เห็นชอบรถไฟ กทม.-โคราช บอร์ด สคช.ชงครม.11 ก.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - “บอร์ด สศช.” เห็นชอบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติ 11 ก.ค.นี้ ด้านสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก เคาะเกณฑ์อบรม-ทดสอบ “วิศวกรจีน” แล้ว คาดเริ่มทดสอบชุดแรก 20-30 คน ปลายเดือนก.ค.เพื่อเริ่มตอกเข็มช่วง 3.5 กม.แรก

วานนี้ (29 มิ.ย.) นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สศช.นัดพิเศษ ว่าที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. กรอบวงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งจากการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกประเด็นอย่างละเอียด เนื่องจากโครงการดังกล่าวประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากและมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งด้านผลตอบแทนโครงการ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และทางสังคม เรื่องของผลกระทบจากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นกับภาระการคลังภาครัฐ รวมถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ ที่จะมีทั้ง การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การพัฒนาเมืองรวมถึงในส่วนของอสังหาริมทรัพย์และการจ้างงานในอนาคต ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบโครงการ และหลังจากนี้จะสรุปผลการประชุมวันนี้นำเสนอไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า และคาดว่าสัปดาห์ถัดไป (11 ก.ค.) จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

**สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกเคาะเกณฑ์อบรมจีน

ที่สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ได้มีประชุมร่วมกับบริษัท ผู้ออกแบบของจีน เพื่อหารือถึงแผนการอบรมและทดสอบวิศวกรและสถาปนิกจีน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ที่ให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก จัดการอบรมและทดสอบวิชาชีพตามความเหมาะสม โดยนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จีนรับหลักการ ในการจัดอบรม และทดสอบ รวมถึงการถ่ายโอนเทคโนโลยีความรู้ด้านรถไฟความเร็วสูงของจีนตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง การเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับวิศวกรไทย โดยจะมีการหารือรายละเอียดร่วมกันในแต่ละประเด็นต่อไปเพื่อนำไปสู่การถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เป็นรูปธรรม

โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า ได้สรุปหลักการร่วมกัน 3 เรื่อง 1. การอบรมและทดสอบวิศวกรจีน จะใช้เวลาอบรม 3 วัน (18 ชม.) วันแรก อบรมหัวข้อ พ.ร.บ.วิศวกรและภาพรวมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ,จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ,พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร วันที่สอง หัวข้อภาพรวมภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและกรณีศึกษาการวิบัติของอาคารและโครงสร้าง ,แผ่นดินไหวและแรงลม,สภาพทางธรณีวิทยาและชั้นดิน,ภัยน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำ วันที่สาม หัวข้อ ความปลอดภัยในการทำงานและการจัดสรรความปลอดภัย ,สิ่งแวดล้อมและมลภาวะ โดยมีข้อสอบ2 ชุดคือ กฎหมายและจรรยาบรรณ 50 ข้อ,สภาพท้องที่และเทคนิควิศวกรรม 100 ข้อ เกณฑ์ผ่านหัวข้อละ 60% จากนั้นจะทดสอบ 1 วัน (6 ชม.) โดยจีนรับหลักเกณฑ์การอบรม ทดสอบ โดยขอให้ไทยอำนวยความสะดวกการอบรม เนื่องจาก จะมีวิศวกรจีนประมาณ 300 คน เข้าอบรม โดยในวันที่ 4-8 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 19 ที่ กรุงปักกิ่งโดยในวันที่ 5 ก.ค.สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกของไทยจะประชุมร่วมกับจีนเพื่อสรุปรายละเอียดเนื้อหาการอบรมจากนั้นจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการจัดทำเอกสารและเริ่มอบรมและทดสอบวิศวกรจีนชุดแรกประมาณ 20-30 คน ได้ช่วงปลายเดือนก.ค. เพื่อ ออกใบรับรองและนำไปสู่การลงนามในสัญญาจ้างออกแบบ 2.1 และการก่อสร้างช่วง 3.5 กม. แรกได้ และคาดว่าจะอบรมและทดสอบวิศวกรจีนทั้งหมดสร็จภายใน 2-3 เดือน( 90 วัน) ซึ่งอยู่ในกรอบคำสั่งม.44 ที่ให้เวลา 120 วันแน่นอน ส่วนข้อเสนอจาก2 สภา เรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีนั้น จะมีการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้วิศวกรไทยเพื่อให้สามารถเดินรถไฟความเร็วสูงได้,ขอให้จีนเพิ่มเติมการถ่ายโอนเทคโนโลยีตั้งแต่การออกแบบ ระบบไฟฟ้าเครื่องกล อาณัติสัญญาณ ซึ่งจีนยินดีให้วิศวกรไทยเข้าร่วม โดยจะหารือสัดส่วนอีกครั้ง ซึ่งไทยเสนอไว้ที่ 50% พร้อมทั้งเสนอให้คั้งคณะกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยีและทำ MOU ร่วมกันต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น