สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ออกแถลงการณ์ระบุใบรับรองวิศวกรจีนใช้ได้เฉพาะรถไฟไทย-จีน แอบไปใช้โครงการอื่นมีโทษคุก 3 ปี ขณะที่ต้องได้ใบรับรองก่อนทำงาน พร้อมเสนอตั้งกรรมการร่วม 4 ฝ่าย กำหนดเกณฑ์อบรมทดสอบ ยันแม้เป็นใบรับรองแต่ความรับผิดชอบแพ่ง-อาญาตาม กม.
วันนี้ (21 มิ.ย.) สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560 โดยข้อ 2 ของคำสั่งกำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ดังต่อไปนี้
(1) งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา (2) งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา (3) งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรรัฐวิสาหกิจตามวรรคหนึ่งและบุคลากรของรัฐวิสาหกิจนั้นทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลหากต้องดำเนินการในลักษณะของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และมาตรา 45 มาตรา 47และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสม นั้น
สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกขอเรียนชี้แจง ดังนี้
1. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกได้มีความพยายามอย่างที่สุดในการแสดงหลักการและจุดยืนเพื่อให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 โดยการกำหนดให้วิศวกรและสถาปนิกจีนที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการดังกล่าว ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ และระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ โดยสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะเร่งรัด ช่วยเหลือ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในเรื่องของระยะเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯระดับภาคีวิศวกรพิเศษ และระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ เพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคของความล่าช้าในการเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว ทั้งนี้ โดยมิได้ย่อหย่อนต่อมาตรฐานการทดสอบความรู้ความชำนาญ
2. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งย่อมมีผลผูกพันต่อสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว
3. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการดังกล่าว เพื่อให้วิศวกรและสถาปนิกไทยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาวิชาชีพภายในประเทศ
4. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะเร่งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่วิศวกร และสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการดังกล่าว
อนึ่ง สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะประสานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อติดตามดูแลโครงการดังกล่าวให้ได้รับประโยชน์ต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยต่อไป
ตั้งกรรมการร่วม 4 ฝ่าย กำหนดเกณฑ์อบรมทดสอบ
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า รถไฟไทย-จีน มี 2 เรื่อง คือ ใบอนุญาต ซึ่งสภาวิศวกรไทยเคยออกให้วิศวกรต่างชาติมาแล้ว 80 ใบ และเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งจากคำสั่ง ม.44 มี 5 ประเด็น คือ 1. ยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ได้แก่ งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา,งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา,งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร 2. รัฐวิสาหกิจและบุคลากรของรัฐวิสาหกิจนั้นที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน 3. บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล 4. ยกเว้น พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ. 2543 มาตรา 45, 47, 49 ข้อ 5. ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้ 2 สภาจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรจีนตามความเหมาะสม
ในโครงการรถไฟไทย-จีน มีงานที่สภาวิศวกรต้องออกใบอนุญาต 3 ส่วน คือ งานออกแบบและคำนวณ (Design) งานก่อสร้าง (Construction) งานที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง (Supervision) แต่คำสั่ง ม.44 ให้ยกเว้นเรื่องออกแบบและควบคุมงาน ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เมื่อยกเว้นใบอนุญาต ทางสภาวิศวกร จะใช้แนวทางการออกใบรับรอง โดยอาศัยมาตรา 8 (4) รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งอบรม 2 เรื่องหลัก คือ ด้านเทคนิค องค์ความรู้พื้นฐาน ปฐมพีวิทยา โครงสร้างชั้นใต้ดิน สภาพภูมิศาสตร์ อากาศ สภาพพื้นดิน ของไทยที่มีความแตกต่างกับจีน เพื่อออกแบบโครงสร้างให้รองรับได้อย่างถูกต้อง และด้านกฎหมาย จรรยาบรรณ และความปลอดภัยและหลักจรรยาบรรณ
ทั้งนี้ การอบรมและทดสอบนั้นจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย (สภาวิศวกร สภาสถาปนิก คมนาคม ผู้แทนจีน) โดย 2 สภากำหนดรายละเอียดและหลักเกณฑ์และวิธีการ โดยผู้แทนจีนจะเดินทางมาไทยในวันที่ 21-30 มิ.ย. จะมีการหารือร่วมกันถึงรายละเอียดหัวข้อหลักเกณฑ์เนื้อหาในการอบรม ทดสอบความรู้ ภาษา และสถานที่อบรม ทดสอบ และเนินการให้ทันภายใน 120 วัน ซึ่งวิศวกรและสถาปนิกจีนมีเกือบ 300 คน
ยันวิศวกร-สถาปนิกจีนต้องรับผิดแพ่ง-อาญากรณีเกิดเหตุจากโครงการตาม กม.
อย่างไรก็ตาม การที่วิศวกรและสถาปนิกจีนได้รับยกเว้นใบอนุญาตวิชาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางจรรยาบรรณ กรณีเกิดเหตุจากโครงการ โทษสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาต แต่ในคำสั่ง ม.44 ไม่ได้ยกเว้นความผิดทางแพ่งและอาญาซึ่งเป็นพันธะผูกพันทางสัญญา ดังนั้น หากมีเหตุเกิดขึ้นวิศวกรและสภาปนิกจีนต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และความรับผิดชอบของผู้ออกแบบจะอยู่ติดกับโครงการตลอดไป ไม่สามารถปฏิเสธได้
นอกจากนี้ จากการตีความเห็นว่าวิศวกรจีนจะต้องผ่านการทดสอบและได้ใบรับรองก่อนที่จะเริ่มทำงาน เพราะเป็นความสบายของสังคม ซึ่งทาง 2 สภาจะหารือกับกฤษฎีกาเพื่อตีความเรื่องนี้ให้ชัดเจน ซึ่งปกติการออกใบอนุญาตจะใช้เวลา 5-6 เดือน แต่ใบรับรองนี้จะเร่งรัด กก.ประชุมรับรองผลให้ถี่ที่สุด แต่จะไม่ลดมาตรฐานการอบรมใดๆ ประเด็นสำคัญคือ ใบรับรองนี้จะใช้ได้เฉพาะกับโครงการรถไฟไทย-จีนเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้กับโครงการอื่นได้ ซึ่งตามกฎหมายหากทำงานนอกใบอนุญาตบทลงโทษจำคุก 3 ปี
ส่วนการถ่ายโอนเทคโนโลยีนั้น ที่ผ่านมาการถ่ายโอนเทคโนโลยีมักไม่เป็นรูปธรรม จึงเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา, จัดทำ Technology transfer progress report, กำหนดสัดส่วนวิศวกรไทยที่จะเข้าไปร่วมทำงาน, กำหนดให้มี counterpart engineers /architect ในงานสำคัญ, กำหนดองค์กรวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี รายงานผลการถ่ายโอนเทคโนโลยี เป็นรายเดือนหรือไตรมาส
นายประภากร วทานยกุล กรรมการสภาสถาปนิก กล่าวว่า ในด้านสถาปัตยกรรม ตัวสถานี จะต้องแนะนำอบรมถ่ายทอดความรู้ ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ความเชื่อเฉพาะพื้นถิ่น เพราะถ้าสถานีออกมาเป็นเก๋งจีนคงยอมรับไม่ได้เช่นกัน และการออกแบบต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร มีระบบป้องกันอัคคีภัย ระบายอากาศ สุขอนามัย