xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เรียก ส.วิศวกร สถาปนิกคุยปมใช้ ม.44 รถไฟไทย-จีน ให้ช่วยกำหนดอบรมถ่ายโอนเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกรัฐมนตรี เชิญสภาวิศวกรรมสถานฯ สมาคมสถาปนิกสยามฯ สภาวิศวกร ถกรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน ด้าน นายกสภาวิศวกร เผย “วิษณุ” แจงใช้ ม.44 แค่ยกเว้นกฎหมายบางข้อ ยันถ่ายทอดเทคโนโลยีต้องมีคนไทยอยู่ด้วย ให้จีนอบรมธรณีวิทยาก่อนได้รับใบอนุญาต ด้านเลขาฯ ส.วิศวฯ จ่อคุยกับแดนมังกร 21 มิ.ย. ยันรักษากฎหมายเต็มที่ แต่ขัดแย้งคำสั่ง คสช. ไม่ได้ บอกรัฐให้สภาวิชาชีพช่วยกำหนดจะถ่ายโอนอย่างไร

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาวิศวกร เข้าหารือการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน หลัง คสช. ออกคำสั่งมาตรา 44 แก้ไขปัญหาการก่อสร้างที่สถาปนิกวิศวกรจีนไม่สามารถเข้ามาดำเนินการได้ เพราะติดเรื่องบัตรอนุญาต

โดยภายหลังการประชุม นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า นายวิษณุ รองนายกฯ ได้อธิบายให้ทราบถึงความจำเป็นในการออกคำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าว เพื่อยกเว้นกฎหมายบางข้อ เพื่อให้โครงการนั้นเดินต่อไปได้ ซึ่งส่วนที่ยกเว้น คือ ยกเว้นในฝ่ายไทยไม่เกี่ยวกับจีน เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นคนทำโครงการ อย่างไรก็ตาม ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น ต้องมีวิศวกรของไทยเข้าร่วมด้วยอยู่แล้ว ในเงื่อนไขต่อไปในการร่างสัญญาก็จะมีการบรรจุเรื่องดังกล่าวในตัวสัญญา ซึ่งเชื่อว่าทุกอย่างจะมีความชัดเจนขึ้น

นายกมล กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังจะต้องมีการอบรมเรื่องธรณีวิทยา เพื่อให้รู้ลักษณะของโครงสร้างต่างๆ และยังมีเรื่องของจรรยาบรรณ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเรื่องความปลอดภัยที่ทางเราจะจัดอบรมให้ จะเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญา ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตของเรา ซึ่งทางจีนยังมีข้อกังวลอยู่เหมือนกัน แต่เพื่อหาจุดตรงกลาง โดยที่เอาประโยชน์ของประเทศชาติ คือ ความปลอดภัยของโครงสร้างเป็นสำคัญ

ด้าน นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า ผู้แทนประเทศจีน จะเข้ามาในวันที่ 21 มิ.ย. นี้ ซึ่งทางสภาวิศวกรไทย จะไปหารือการพัฒนาหลักสูตร และมาคุยกับทางการจีน ซึ่งเป็นไปตามคำสั่ง คสช. ที่ให้กระทรวงคมนาคมตั้งกรรมการขึ้นมา โดยประสานกับสภาวิชาชีพวิศวกร อย่างไรก็ตาม ทางไทยจะพยายามรักษากฎหมายวิศวกรอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ไม่สามารถที่จะขัดแย้งคำสั่ง คสช. ได้ ฉะนั้น วิธีการดีที่สุด คือ ทำให้ทางการจีนมีความรู้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นการรับประกันด้านความปลอดภัยในการดำเนินงานในโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของสภาวิศวกรไทย ทั้งนี้ สภาวิศวกร จะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดการถ่ายโอนเทคโนโลยี อย่างเป็นรูปธรรม

นายอมร กล่าวว่า โดยการหารือนายวิษณุได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ออกมาตรา 44 โดยขอให้สภาวิชาชีพช่วยเหลือรัฐบาลในการกำหนด ว่า จะถ่ายโอนเทคโนโลยีอย่างไร พร้อมช่วยให้ความรู้ อบรม ทดสอบวิศวกรจีน ที่จะให้เขามีความรู้อย่างแท้จริง และมาปฏิบัติงานในประเทศไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น