xs
xsm
sm
md
lg

สั่งเพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำชานชาลา ล้อมคอกเหตุรถไฟฟ้าถี่ แอร์พอร์ตลิงก์แจงระยะทางกระชั้นชิดหยุดรถไม่ทัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” กำชับรถไฟฟ้าเพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำชานชาลา หลังเหตุสลด หญิงตกรางรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ยันติดตั้งประตูกั้นที่ชานชาลาไม่ล่าช้า จัดงบปี 60 ประมูลแล้วแต่ต้องทำตามขั้นตอน สั่งพิจารณาเพิ่มกรณีเกิดเหตุบ่อยเป็นคะแนนในการประมูลโครงการอนาคต ด้านแอร์พอร์ตลิงก์แจงผู้โดยสารตกลงรางในระยะทางกระชั้นชิด กับรถไฟฟ้าจะเทียบชานชาลา พนักงานควบคุมรถไฟฟ้ากดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินแล้วแต่ไม่สามารถหยุดรถไฟได้ทัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงเหตุผู้โดยสารพลัดตกรางที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์เรลลิงก์ ที่สถานีบ้านทับช้างเมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 มิ.ย.ว่า ก่อนหน้านี้ได้ย้ำกระบวนการดูแลความปลอดภัยสำหรับขนส่งมวลชนและบริการทุกระบบ ทั้ง รฟม. บีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ ว่าต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำชานชาลา ซึ่งนอกจากให้ข้อมูลต่างๆ แล้วต้องดูเรื่องความปลอดภัยตลอดเวลา เพราะผู้โดยสารบางคนอาจไม่เข้าใจและอาจเดินเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงได้ จะให้เสริมมาตรการป้องกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกชานชาลาแม้ว่าระบบจะเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่เพื่อความมั่นใจ

สำหรับแอร์พอร์ตลิงก์นั้น ปัจจุบันมีประตูกั้นที่ชานชาลาสถานีมักกะสันและสุวรรณภูมิ โดยอยู่ระหว่างประมูลติดตั้งระดับความสูงประมาณ 1.5 เมตร อีก 7 สถานี โดยได้รับงบประมาณปี 2560 แล้วขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะได้ตัวผู้รับจ้างในเดือนนี้และจะทยอยเสร็จตั้งแต่ เม.ย. 61 เนื่องจากต้องมีระบบซอฟต์แวร์ควบคุมการเปิด ปิดให้ตรงกับประตูรถ และต้องกั้นไปสุดชานชาลาเพื่อไม่ให้คนลงไปในรางได้

ส่วนเหตุการณ์เมื่อค่ำวันที่ 18 มิ.ย. กรณีเหตุโครงเหล็กนั่งร้านของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหล่นลงมาบนผิวจราจรช่วงแยกบางขุนนนท์มุ่งหน้าท่าพระนั้น นายอาคมกล่าวว่า ได้ให้นโยบายเพิ่มเติมสำหรับกรณีที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยจะให้พิจารณาว่าจะทำเป็นข้อกำหนดหนึ่งในเรื่องการพิจารณาให้คะแนนในการยื่นประมูลงานและการทำสัญญาในอนาคตด้วย ซึ่งถือเป็นบทการลงโทษแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้จะต้องดูมาตรการลงโทษเพิ่มเติม เพราะหลายประเทศใช้ประเด็นนี้เป็นข้อพิจารณาประกอบการให้คะแนนในการประมูลไม่ได้ใช้เป็นข้อบังคับ ซึ่งหากเป็นประเทศที่มีผู้รับเหมาจำนวนมากการบังคับอาจไม่มีปัญหา แต่ถ้าประเทศที่มีผู้รับเหมาไม่มากขนาดนั้นการบังคับอาจจะมีปัญหา เพราะถ้าเข้มงวดมากๆ ก็อาจจะไม่มีผู้รับเหมาเลยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางสภาวิศวกรจะมาตรวจสอบสาเหตุ หากพบว่าเป็นสาเหตุมาจากวิศวกร ทางสภาวิศวกรก็มีบทลงโทษของตัวเอง

ด้านนายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ชี้แจงเหตุมีผู้โดยสารตกลงรางเสียชีวิตที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์บ้านทับช้าง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ว่า ขณะที่รถไฟฟ้ากำลังเข้าสู่ชานชาลาที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์บ้านทับช้าง เมื่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำชานชาลาพบเห็นเหตุการณ์ จึงปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทันที ด้วยการกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินที่ชานชาลา และพนักงานควบคุมรถไฟฟ้ากดปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน แต่ด้วยระยะทางที่กระชั้นชิดทำให้ไม่สามารถหยุดรถไฟได้ทัน จึงทำให้ผู้โดยสารหญิงคนดังกล่าวเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ประจำสถานีประสานศูนย์นเรนทร และเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟเข้าพื้นที่ โดยหลังตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้นพบว่าผู้โดยสารที่เสียชีวิตเป็นผู้หญิง อายุ 31 ปี ส่วนสาเหตุการตกลงรางของผู้โดยสารอยู่ในระหว่างการสรุปผลของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างครบถ้วน ทั้งการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำชั้นชานชาลา ซึ่งประจำอยู่ทุกชานชาลาตลอดเวลาให้บริการ ที่คอยเน้นย้ำไม่ให้ผู้โดยสารยืนล้ำเส้นสีเหลือง รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆ เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าจะกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินทันที EB (Emergency brake) และบนชั้นชานชาลาก็จะมีปุ่มหยุดรถฉุกเฉินเช่นเดียวกัน ESP (Emergency Stop Plunger) และมีการควบคุมความหนาแน่นของจำนวนผู้โดยสารบนชั้นชานชาลามาโดยตลอด (Crowd Control) ทั้งการแจ้งโดยการประกาศที่สถานี และการแจ้งผ่านทางสื่อโซเชียลของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์

นอกจากนั้น บริษัทฯ กำลังดำเนินการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา (Platform Screen Door) ซึ่งปัจุบันมีประตูกั้นชานชาลาที่สถานีสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเพิ่มอีก 7 สถานี มีกำหนดยื่นซองประกวดราคาวันที่ 29 มิถุนายน 2560 แข่งขันประกวดราคา (E-Auction) วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 คาดว่าจะเซ็นสัญญาจ้างกลางเดือนสิงหาคม 2560 โดยหลังจากได้ผู้รับจ้างแล้วจะเร่งดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

โดยบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา ณ ที่นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น