xs
xsm
sm
md
lg

นายก วสท.ยืนยันโครงสร้างอาคารเมเจอร์ ปิ่นเกล้า ยังแข็งแรง แต่ชั้น 4 ต้องรื้อถอน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - นายก วสท. เข้าตรวจสอบอาคารเมเจอร์ ปิ่นเกล้า หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ระบุ โครงสร้างอาคารชั้น 1 - 3 ยังแข็งแรง ขณะที่ชั้น 4 เสียหายทั้งหมดต้องรื้อถอน ยืนยันไม่ใช่การทรุดตัว แต่เกิดจากโครงเหล็กถูกเผานานกว่า 2 ชั่วโมง
 
วันนี้ (30 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.20 น. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบสภาพที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในอาคารเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขาปิ่นเกล้า ร่วมกับ สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร และผู้บริหารอาคารเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขาปิ่นเกล้า ว่า จากผลการตรวจสอบโดยใช้เวลาประมาณกว่า 30 นาที พบว่า โครงสร้างอาคารตั้งแต่ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 ยังแข็งแรงดี ทุกอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ มีเพียงร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากน้ำตอนเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเพลิงเท่านั้น แต่บริเวณทางขึ้นโรงภาพยนตร์ตรงช่วงชั้นที่ 3 ต่อเนื่องไปบนชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายมาก ส่วนเนื้อที่บนชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายทั้งหมด จากการสำรวจเวลานี้ คาดว่า เป็นเรื่องของไฟฟ้าลัดวงจร แต่ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์จากกองพิสูจน์หลักฐานมายืนยันข้อสันนิษฐานอีกครั้ง
 
จากการตรวจสอบอุปกรณ์ดับเพลิง พบว่า ทางโรงภาพยนตร์ก็มีตามกฎหมาย พบถังเคมีและอุปกรณ์ที่พนักงานพยายามนำเข้าไปควบคุมสถานการณ์เบื้องต้น แต่เอาไม่อยู่ เนื่องจากเพลิงเกิดลุกไหม้อย่างรวดเร็ว เพราะสภาพเพดานโรงภาพยนตร์นั้นติดกันตลอดแนว ประกอบกับพื้นโรงภาพยนตร์ก็เป็นพรม เมื่อเกิดแสงเพลิงขึ้น ทำให้ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อสังเกตที่มีข่าวว่า อาคารทรุดตัวนั้น ยืนยันไม่ใช่การทรุดตัว แต่โครงสร้างเหล็กบนชั้นที่ 4 ที่ถูกเพลิงไหม้นานถึง 2 ชั่วโมง เกิดการแปรสภาพหล่นลงมา และจะต้องทำการรื้อถอนออกทั้งหมด ซึ่งเจ้าของอาคารจะต้องประสานทางกรุงเทพมหานคร ก่อนดำเนินการ เชื่อว่า ผู้บริหารคงไม่ปล่อยไว้นาน และคงจะก็จะดำเนินการรื้อถอนเพื่อปรับปรุงกันใหม่ให้รวดเร็วที่สุด
 
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวด้วยว่า ต้องทำความเข้าใจว่า อาคารของเมเจอร์ สาขาปิ่นเกล้า นั้น ส่วนแรกซีกซ้ายสร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 อีกส่วนบริเวณซีกขวาสร้างประมาณ พ.ศ. 2538 แต่กฎหมายควบคุมโครงสร้างอาคารเพิ่งกำหนดให้มีการใช้ ทำให้ไม่ครอบคลุมไปถึงอาคารที่สร้างขึ้นในอดีต แต่ที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานคร ก็ได้ทำการกวดขันให้ผู้บริหารอาคารเหล่านี้รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสาธารณะอยู่แล้ว และพยายามรณรงค์ให้มีการตรวจสอบอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยกันทุก ๆ 6 เดือน ซึ่งหลังจากนี้ จะต้องหามาตรการพูดคุยกับเจ้าของอาคารอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่สร้างก่อนที่กฎหมายกำหนดให้ช่วยดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีสำนึกที่จะดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารอย่างเข้มข้น หลัก ๆ ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย คือ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้คนในอาคารต้องมีช่องทางหนีให้ได้ หนีให้ทัน และโครงสร้างอาคารต้องทนความร้อนให้ได้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
 
“ขอยืนยันกฎหมายการควบคุมและดูแลความปลอดภัยโครงสร้างอาคารของประเทศไทยนั้น มีความทันสมัยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่อาคารส่วนใหญ่ในประเทศไทยสร้างก่อน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยและกำหนดข้อปฏิบัติร่วมกันเพื่อยกระดับความเป็นมาตรฐานสากล เจ้าของอาคารต้องรับผิดชอบในทุก ๆ ระบบ ที่จะสร้างความปลอดภัย และตนคาดว่า หลังจากนี้ น่าจะมีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยให้สมบูรณ์ในกฎหมายฉบับนี้เพิ่มขึ้นอีก เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของคนไทยทุกคน” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น