xs
xsm
sm
md
lg

สนข.รับฟังความเห็นคนบึงกาฬ ทำแผนแม่บทพัฒนาระบบคมนาคมรองรับทิศทางเติบโตของเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.ลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) โครงการศึกษาสำรวจข้อมูลด้านการขนส่งและจราจรเพื่อจัดทำแผนแม่บทในเมืองภูมิภาค จังหวัดบึงกาฬ ให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้เหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) โครงการศึกษาสำรวจข้อมูลด้านการขนส่งและจราจรเพื่อจัดทำแผนแม่บทในเมืองภูมิภาค จังหวัดบึงกาฬ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่จังหวัดบึงกาฬ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา พร้อมด้วยผู้แทนจาก สนข. เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 60 คน

ทั้งนี้ จังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 โดยแยกการปกครองออกจากจังหวัดหนองคาย และนับเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย อยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู และบึงกาฬ แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอปากคาด อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า มีพื้นที่ 4,305 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,690,625 ไร่ เป็นจังหวัดชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

การคมนาคมขนส่งไปยังจังหวัดบึงกาฬ ประกอบด้วย 1. ทางถนน จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดสระบุรี แล้วเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา-จังหวัดขอนแก่น-จังหวัดอุดรธานี จนถึงจังหวัดหนองคาย และจากจังหวัดหนองคายสู่จังหวัดบึงกาฬ ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี อำเภอปากคาด รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 750 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยประมาณ 11 ชั่วโมง

2. ทางรถไฟ มีขบวนรถไฟจากกรุงเทพฯ - หนองคาย จากสถานีรถไฟหนองคายเดินทางต่อไปยังจังหวัดบึงกาฬ ระยะทาง 136 กิโลเมตร

3. ทางอากาศ การเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ-อุดรธานี ลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เดินทางต่อไปยังจังหวัดบึงกาฬ ใช้เส้นทางจังหวัดอุดรธานี-จังหวัดหนองคาย-อำเภอโพนพิสัย-อำเภอรัตนวาปี-อำเภอปากคาด-จังหวัดบึงกาฬ ระยะทาง 190 กิโลเมตร

จังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การค้าชายแดน และมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้งเป็นแหล่งปลูกยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น สนข. จึงได้ดำเนินการศึกษาสำรวจข้อมูลด้านการขนส่งและจราจรเพื่อจัดทำแผนแม่บทในเมืองภูมิภาค จังหวัดบึงกาฬ เพื่อวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้เหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ปลอดภัย มีการเดินทางที่สะดวก มีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยท้ายที่สุดจังหวัดบึงกาฬจะมีแผนการแก้ไขปัญหาและการจัดการจราจรเฉพาะหน้าระยะเร่งด่วน แนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว แผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจรที่นำแนวคิดการพัฒนาเมืองในอนาคต (Future City) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วางรากฐานความเจริญเติบโตของจังหวัดบึงกาฬ และป้องกันการเกิดปัญหาจราจร เพื่อจังหวัดบึงกาฬเป็นเมืองที่มีความปลอดภัย น่าอยู่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนปฏิบัติการด้านการขนส่งและจราจรที่มีการจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการขนส่งและจราจร นำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้

การศึกษาสำรวจข้อมูลด้านการขนส่งและจราจรเพื่อจัดทำแผนแม่บทในเมืองภูมิภาค จังหวัดบึงกาฬ มีระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน ซึ่งในขั้นตอนการศึกษาจะมีการลงพื้นที่เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนฯ ดังกล่าว การลงพื้นที่ฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) จึงได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานด้านการขนส่งและจราจร ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม ของจังหวัดบึงกาฬ และภาพรวมทิศทางการพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ระดับภาค และระดับจังหวัดที่สอดคล้องกับจังหวัดบึงกาฬ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัดของพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2560 สนข.จะลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬอีกครั้งหนึ่งเพื่อจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ และสื่อมวลชน เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ตลอดจนข้อมูลเพิ่มเติมมาใช้เป็นแนวทางประกอบการศึกษาโครงการฯ ดังกล่าวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น