xs
xsm
sm
md
lg

สนข.โรดโชว์รถไฟสายใหม่เชื่อมอันดามัน “ดอนสัก-สุราษฎร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อมูลรายละเอียดโครงการศึกษาออกแบบทางรถไฟสายใหม่ ช่วงอำเภอดอนสัก-เชื่อมรถไฟสายใต้ สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 77 กม. เติมเต็มการขนส่งและท่องเที่ยว อันดามันของไทย

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้จัดประชุมเปิดตัวโครงการศึกษาออกแบบทางรถไฟสายใหม่ช่วงอำเภอดอนสัก-เชื่อมรถไฟสายใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนายอวยชัย อินทร์นาค ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานราชการจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชน ผู้นำชุมชน รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 60 คน

ทั้งนี้ ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้ประเทศมากที่สุด การเดินทางของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ สามารถพัฒนาเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งสองฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน โดยการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้สอดคล้องกับการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก และเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจของเอเชียใต้ 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างเส้นทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบันไปยังพื้นที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับรถไฟสายใหม่เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงจังหวัดพังงา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ สนข.จึงได้ดำเนินการศึกษาออกแบบทางรถไฟสายใหม่ ช่วงอำเภอดอนสัก-เชื่อมรถไฟสายใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีแนวคิดหลักเพื่อเชื่อมต่อรถไฟสายใต้และเติมเต็มระบบคมนาคมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งมีขอบเขตของงาน

ประกอบด้วย สำรวจและศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและการเงิน ออกแบบรายละเอียด และจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณ พื้นที่ต้นทาง (บริเวณเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายใต้) และพื้นที่ปลายทาง (บริเวณอำเภอดอนสัก) รวมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ แนวเส้นทางเบื้องต้นของโครงการจะมีจุดเริ่มต้นบริเวณอำเภอพุนพิน ผ่านสถานีเขาหัวควาย จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งสู่พื้นที่เขตทางของทางหลวงหมายเลข 44 (สายเซาเทิร์นซีบอร์ด กระบี่-กาญจนดิษฐ์) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอกาญจนดิษฐ์ จากนั้นจะตัดแนวเส้นทางรถไฟใหม่มุ่งเข้าสู่อำเภอดอนสัก ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ ระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร ผ่านเขตพื้นที่ 14 ตำบล 4 อำเภอ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

การประชุมเปิดตัวโครงการฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อมูลรายละเอียดของโครงการให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องรับทราบในภาพรวมของโครงการ เช่น ความเป็นมา วัตถุประสงค์ของโครงการ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษา สภาพพื้นที่โครงการ ตลอดจนแผนการดำเนินงานของโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมต่อขอบเขตและแนวทางการศึกษาของโครงการ ตลอดจนความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการร่วมกัน

ซึ่งการพัฒนาทางรถไฟสายใหม่นี้จะช่วยให้การท่องเที่ยวในภาคใต้เชื่อมโยงเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในฝั่งอ่าวไทย ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดการขนส่งต้นทุนต่ำ ส่งผลต่อการลดต้นทุนลอจิสติกส์ และสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางน้ำที่ท่าเรือดอนสัก พร้อมทั้งช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการคมนาคมขนส่ง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง และลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน โดยเร่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงระหว่างกันของอาเซียน รวมถึงการเร่งพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบลอจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน โดยการต่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งและระบบลอจิสติกส์จากฐานการผลิตในชุมชนไปสู่แหล่งแปรรูปอีกด้วย

สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ สนข.จะนำความเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ครบถ้วนหรือไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ แนวทางการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโครงการฯ ดังกล่าว ที่ได้จากผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับภูมิภาค ผู้แทนกลุ่มต่างๆ และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้โครงการศึกษาออกแบบทางรถไฟสายใหม่ช่วงอำเภอดอนสัก-เชื่อมรถไฟสายใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายต่อไป ทั้งนี้ สามารถติดตามความก้าวหน้าและรายละเอียดโครงการได้ที่ www.donsaksurat-railtransit.com
กำลังโหลดความคิดเห็น