เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ลงนามในคำสั่งบริหารห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทั่วประเทศ ถือเป็นกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ที่มีบทลงโทษรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย
คำสั่งบริหารซึ่งประกาศเมื่อวานนี้ (18 พ.ค.) และมีผลบังคับภายใน 60 วัน ห้ามการสูบหรือจำหน่ายบุหรี่ในที่สาธารณะทุกแห่ง รวมถึงภายในรัศมี 100 เมตรจากโรงเรียน สวนสาธารณะ และสถานอื่นๆ ที่มักมีเยาวชนไปรวมตัวกัน
เออร์เนสโต อาเบลลา โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แถลงวานนี้ (18) ว่า คำสั่งห้ามสูบบุหรี่นี้จะครอบคลุมพื้นที่สาธารณะทั้งในและนอกอาคาร โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 4 เดือน และปรับอีก 5,000 เปโซ (ราว 3,500 บาท)
คำสั่งนี้ยังรวมไปถึงการห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขาย หรือสนับสนุนการสูบบุหรี่ โดยกำหนดระวางโทษปรับสูงสุด 400,000 เปโซ (ราว 277,000 บาท) จำคุกสูงสุด 3 ปี และอาจโดนเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจด้วย
ดูเตอร์เต มีชื่อเสียงอื้อฉาวไปทั่วโลกจากนโยบายทำสงครามกวาดล้างยาเสพติดซึ่งคร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์ไปแล้วหลายพันคน
ผู้นำขาโหดรายนี้ให้สัญญาหลังจากหลังสาบานตนเป็นประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้วว่า กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่เขานำมาบังคับใช้เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม นอกเหนือไปจากการห้ามเที่ยวคาราโอเกะยามดึก และห้ามดื่มสุราในที่สาธารณะหลังเวลา 02.00 น. ซึ่งยังไม่ได้ประกาศใช้จริง
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา ดูเตอร์เตได้เปลี่ยนเมืองที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมแห่งนี้ให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่และปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ ของฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านและนักสิทธิมนุษยชนไม่เห็นด้วยที่ ดูเตอร์เต มองข้ามความสำคัญของหลักนิติธรรม และสนับสนุนให้ตำรวจและประชาชนล่าสังหารผู้ต้องสงสัยเป็นอาชญากรโดยไม่ไต่สวนทวนความ
ก่อนหน้านี้ ทางการฟิลิปปินส์มีกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่และสูบบุหรี่ภายในอาคารสาธารณะอยู่แล้ว และยังกำหนดให้ผู้ผลิตต้องพิมพ์ภาพเตือนอันตรายลงบนซองบุหรี่ด้วย
รายงานของมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance - SEATCA) ในปี 2014 พบว่า มีชาวฟิลิปปินส์ 17 ล้านคนที่สูบบุหรี่ หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ และมากเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากอินโดนีเซีย
ชายชาวฟิลิปปินส์เกือบครึ่ง และผู้หญิงอีกร้อยละ 9 สูบบุหรี่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าพฤติกรรมบั่นทอนสุขภาพเช่นนี้ ทำให้ประเทศต้องสิ้นเปลืองงบประมาณสาธารณสุขและสูญเสียผลิตภาพ (productivity) รวมเป็นมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี