คลังกลับลำไม่เอาที่ดินมักกะสันแลกหนี้ ร.ฟ.ท. “ออมสิน” เตรียมหารือธนารักษ์ขอความชัดเจนก่อน ยัน ร.ฟ.ท.พร้อมปัดฝุ่นการศึกษาเดิมเพื่อพัฒนาเอง วงในเผยโอนธนารักษ์พัฒนาที่ดินรถไฟซึ่งเวนคืนมานั้น ส่อประเด็นข้อกฎหมาย ขณะที่ส่งแผนพัฒนาสถานีแม่น้ำ และบางซื่อแปลง A ไปยัง สคร.แล้ว รอ PPP เคาะเปิดประมูล
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการโอนสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินมักกะสัน จำนวน 497.11 ไร่ ให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อชำระหนี้ 6.1 หมื่นล้านบาท ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ว่าล่าสุดได้พบกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีแนวคิดว่าไม่อยากให้โอนแล้ว เนื่องจากโอนให้แล้วทางคลังจะต้องจ้างคนอื่นมาพัฒนาต่อ ขณะที่หากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีความพร้อมควรจะทำเอง เรื่องนี้นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ จะมาหารือกับตนและ ร.ฟ.ท.ในเร็วๆ นี้เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันให้ชัดเจน
ทั้งนี้ ในส่วนของ ร.ฟ.ท.ไม่มีปัญหาในการพัฒนาที่ดินมักกะสันเอง เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยมีการศึกษาแผนงานพัฒนาที่ดินมักกะสันไว้แล้ว ซึ่งจะมีพื้นที่สวนสาธารณะประมาณ 100 ไร่ และพัฒนาบึงมักกะสันให้เกิดความสวยงามจนกระทั่งแนวคิดในเรื่องการโอนให้กรมธนารักษ์ ทำให้ยุติแผนดังกล่าว ดังนั้นหากจะให้ ร.ฟ.ท.ทำเองเหมือนเดิมสามารถนำผลการศึกษาเดิมออกมาปัดฝุ่นได้
“เรื่องโอนที่ดินมักกะสันให้คลังเพื่อชำระหนี้นั้นเป็นมติ คนร. แต่หากจะไม่ให้โอนแล้วก็ต้องมาหารือร่วมกันว่าการรถไฟฯ จะพร้อมหรือไม่ ขณะนี้ในส่วนการพัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่ เช่น สถานีแม่น้ำ 77.5 ไร่ มูลค่าประมาณ 13,317.24 ล้านบาท และบางซื่อแปลง A ของการรถไฟฯ นั้นได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเข้าสู่คณะกรรมการ PPP แล้ว”
รายงานข่าวแจ้งว่า การโอนที่ดินมักกะสันให้คลังเพื่อชำระหนี้นั้นเป็นนโยบายซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบในหลายประเด็นพบว่าติดประเด็นข้อกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในข้อกฎหมาย ร.ฟ.ท.แล้วว่า สามารถนำที่ดินเวนคืนมาเพื่อกิจการรถไฟไปใช้กิจการอื่นหรือพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ แต่กรณีการโอนให้กรมธนารักษ์แล้วจะต้องตีความตามกฎหมายของกรมธนารักษ์ในการนำที่ดินไปใช้ไม่ตรงต่อวัตถุประสงค์เดิมได้หรือไม่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนทำให้เกิดปัญหาในการรับโอนไป อย่างไรก็ตาม หากสรุปไม่โอนที่มักกะสัน จะต้องหารือในประเด็นหนี้สินของ ร.ฟ.ท.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 31,139.35 ล้านบาทนั้น กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอ สคร.เร็วๆ นี้ โดยได้ศึกษาแนวทางการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP-Net Cost ใน 2 รูปแบบ คือ 1. รัฐลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐาน งานโยธา วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนวางราง จัดหาระบบอาณัติสัญญาณและตัวรถ พร้อมเดินรถ วงเงินกว่า 10,000 กว่าล้านบาท 2. ให้เอกชนลงทุน100% ทั้งงานโยธาและระบบรถ ทั้งนี้ ในการร่วมลงทุนจะไม่มีเงื่อนไข การันตีเรื่องจำนวนผู้โดยสาร ตามที่ภาคเอกชนเสนอจากการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) เพราะรัฐจะไม่รับภาระเพิ่ม เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ลงทุนโครงสร้างส่วนแรก ช่วงพญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิไปแล้ว