xs
xsm
sm
md
lg

จี้ ร.ฟ.ท.เคลียร์ สศช.เร่งแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยาย ยันตั้ง บ.ร่วมทุนเอกชนเล็งวิ่งเชื่อม 2 สนามบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” จี้ ร.ฟ.ท.เร่งเคลียร์ข้อข้องใจบอร์ด สศช.รูปแบบบริหารและการเพิ่มประสิทธิภาพ “แอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยาย” ขณะที่จะเร่งชงสายสีแดงเข้า ครม.ใน ก.ค.นี้ก่อน ส่วนการก่อสร้างช่วง Missing Link ที่ต้องทำพร้อมกันไม่มีปัญหาเทคนิค ขณะที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองสรุปใช้ทางร่วมรถไฟไทย-จีนสรุปแล้ว ด้าน “วุฒิชาติ” คาดส่งผลศึกษาบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ได้ใน 2 เดือน คาดตั้งบริษัทร่วมทุนเอกชน (PPP) ตีมูลค่าทรัพย์สินแอร์พอร์ตลิงก์เดิมกับต่อขยายเป็นหุ้นของ ร.ฟ.ท. ข้อดีวิ่งรถเชื่อม 2 สนามบินไร้รอยต่อ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เร่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำข้อมูลแผนงานโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ ระยะทาง 7.9 กม. และช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 13.9 กม. วงเงิน 31,139.35 ล้านบาท เพื่อชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่มเติม ซึ่ง สศช.ต้องการความชัดเจนในเรื่องรูปแบบการบริหารจัดการ และการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการระหว่างแอร์พอร์ตลิงก์กับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการจะใช้รูปแบบรัฐลงทุนร่วมเอกชน (PPP)

ส่วนการก่อสร้างของทั้ง 2 โครงการช่วงสถานีสามเสน รูปแบบคลองแห้ง ซึ่งใช้เขตทางร่วมกันนั้น ในเชิงเทคนิคไม่มีปัญหา โดยสายสีแดงสามารถเปิดพื้นที่เริ่มก่อสร้างก่อนได้ ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์จะต้องเริ่มก่อสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อตามไปเพื่อให้เสร็จในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนประเด็นการใช้ทางร่วม (Share Track) จากบางซื่อ-ดอนเมือง ได้ข้อสรุปเบื้องต้นระดับหนึ่งแล้วว่าแอร์พอร์ตลิงก์จะใช้ทางร่วมกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยจะหารือกันในเรื่องเทคโนโลยีต่อไป

โดยขณะนี้คาดว่าสายสีแดงจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ก่อนภายในเดือน ก.ค.นี้ เนื่องจากบอร์ด สศช.เห็นชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงาน ซึ่งตามแผนล่าสุดจะประกวดราคาแล้วเสร็จใน ธ.ค. 2559 และลงนามสัญญา ม.ค. 2560 ก่อสร้าง ก.พ. 2560-ม.ค. 2563 ขณะที่แอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายจะต้องรอ ร.ฟ.ท.สรุปรูปแบบการบริหารจัดการเพิ่มเติมส่ง สศช.เพื่อเร่งเสนอ ครม.โดยเร็ว

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ที่ปรึกษากำลังศีกษารายละเอียดการบริหารจัดการแอร์พอร์ตลิงก์ตามความเห็น สศช. จะเร่งสรุปใน 2 เดือนนี้ เนื่องจากจะต้องก่อสร้างไปพร้อมกับสายสีแดง ช่วง Missing Link ส่วนหลักการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง นั้นจะเป็น PPP แต่การบริหารอาจจะพิจารณาร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ปัจจุบันพญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิด้วยเพื่อให้การเดินรถต่อเนื่อง ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะแปลงทรัพย์สินเป็นทุน โดยแอร์พอร์ตลิงก์ปัจจุบัน ช่วง พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ วงเงิน 30,000 ล้านบาท จะคิดมูลค่าปัจจุบันหลังหักค่าเสื่อมเหลือเท่าไรรวมกับมูลค่าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย โดยจะรวมมูลค่าทั้งหมดเป็นสัดส่วนหุ้นของ ร.ฟ.ท.ในบริษัทร่วมทุน ที่เหลือจะเป็นส่วนเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุน เช่น มูลค่าตัวรถ ระบบ และการบริหารจัดการ

“รูปแบบบริษัทร่วมทุนค่อนข้างชัดเจน ส่วนการเดินรถ หากรวมเป็นบริษัทเดียวกันจะสามารถเดินรถจากสุวรรณภูมิ-พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ตลอดสาย เชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง ส่วนพนักงานบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) ในปัจจุบันนั้นจะสามารถตัดสินใจมาอยู่ใน ร.ฟ.ท.ได้หากต้องการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อไป เนื่องจากบริษัทร่วมทุนใหม่นั้นจะมีสภาพเป็นเอกชน” นายวุฒิชาติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น