“บอร์ดสภาพัฒน์ฯ” ไฟเขียวรถไฟทางคู่ “มาบกะเบา-จิระ” วงเงินกว่า 2.9 หมื่นล้าน คาดชง ครม.อนุมัติใน มิ.ย. พร้อมเปิดประมูล “ปลัดคมนาคม” จี้ ร.ฟ.ท.เร่งแจงข้อมูลสภาพัฒน์ฯ ขอตัดตอนก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยายพญาไท-บางซื่อก่อน ด้านบอร์ด สผ.อนุมัติ EIA ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนองแล้ว กทพ.เร่งออกแบบ เปิดประมูลต้นปี 60
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์ฯ) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินลงทุน 29,667.66 ล้านบาทแล้ว โดยคาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ จากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สามารถเปิดประกวดราคาก่อสร้างได้ทันที โดยเส้นทางนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ได้เห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ที่เตรียมเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ฯ พิจารณาเป็นลำดับต่อไป คือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงินลงทุน 24,940.96 ล้านบาท
นายชาติชายกล่าวว่า การลงทุนโครงการตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559-2560 ขณะนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะเร่งรัด ร.ฟ.ท.ให้สรุปแผนงานโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร วงเงิน 31,139.35 ล้านบาท เพื่อชี้แจงต่อสภาพัฒน์ฯ หลังจากก่อนหน้านี้ทางบอร์ดสภาพัฒน์ฯ ยังไม่เห็นชอบกรณีที่จะก่อสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อก่อน ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะต้องทำข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมถึงความจำเป็นในการก่อสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดง บางซื่อ-หัวลำโพง วงเงิน 44,157 ล้านบาท ที่จะต้องใช้พื้นที่โครงสร้างเดียวกัน ซึ่งเป็นรูปแบบคลองแห้ง จำเป็นต้องก่อสร้างไปพร้อมกัน ขณะที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้นยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่เขตทางที่อาจจำเป็นต้องมีการใช้ทางร่วม (Share Track) กับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน, ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ
“ทางสภาพัฒน์ฯ ให้ ร.ฟ.ท.ศึกษาภาพรวมทั้งโครงการ เพราะเป้าหมายของแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยายเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิกับดอนเมือง ตลอดจนดูความสัมพันธ์ของจำนวนผู้โดยสาร เศรษฐกิจระยะยาว รวมถึงรูปแบบการลงทุนและบริหารจัดการยังไม่ชัดเจน ต้องทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อชี้แจงสภาพัฒน์ฯ ให้เข้าใจประเด็นความจำเป็นและข้อจำกัดที่ต้องแบ่งการก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงพญาไท-บางซื่อก่อน เพราะถ้ารอก่อสร้างทีเดียวถึงดอนเมืองอาจจะกระทบต่อการก่อสร้างสายสีแดง Missing Link ที่จะล่าช้าไปด้วย แต่จะเสนอขออนุมัติทั้งโครงการจากพญาไท-ดอนเมือง” นายชาติชายกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2559 ได้เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 16.9 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 2.8 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างออกแบบก่อสร้างจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ต้นปี 2560 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยระหว่างนี้ทาง กทพ.จะต้องเสนอแผนการลงทุนก่อสร้างว่าจะใช้เงินกู้ หรือจะตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาเพื่อเสนอตามขั้นตอนต่อไป