“อาคม” สั่งปรับแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559-2560 เพิ่มรถไฟฟ้าสีเขียวต่อขยายด้านเหนือและใต้ ด้านละ 4 สถานี และรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม ชี้โครงการพร้อมนำเสนอ ครม.ขออนุมัติเดินหน้าลงทุน และใช้ ม.44 เร่งประมูลคู่ขนานได้ พร้อมสั่ง ร.ฟ.ท.ทำแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้สอดคล้องกับ Action Plan คมนาคม หลังแผนลงทุนรถไฟ 1.7 แสนล้านเดิมได้งบจริงเพียง 5 หมื่นล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมปรับปรุงแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559-2560 ที่มีจำนวน 20 โครงการ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีหลายโครงการที่ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้ว และบางโครงการรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับการอนุมติแล้ว จึงเห็นว่าสามารถเร่งรัดผลักดันให้ลงทุนโครงการต่อเนื่องได้เพิ่มเติม ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.2 กม. วงเงินลงทุน 13,701.21 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กม. วงเงินลงทุน 11,989.33 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายสายสีเขียวออกไปด้านละ 4 สถานี และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม. วงเงินประมาณ 66,000 ล้านบาท
โดยเป็นโครงการที่ศึกษาเสร็จแล้วพร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการ และดำเนินโครงการในปี 2559-2560 โดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.มาตรา 44 ที่ให้ เรื่องการดำเนินการด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คู่ขนานไป โดยให้ปรับ Action Plan ภายใน 1-2 เดือน
ทั้งนี้ 20 โครงการใน Action Plan ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559-2560 เดิมมีวงเงินลงทุนรวม 1.796 ล้านล้านบาท โดยความร่วมมือไทย-จีน โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทาง หนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-ศรีราชา-มาบตาพุด วงเงิน 369,148 ล้านบาท ต่อมาปรับเป็นรถไฟความเร็วสูง และก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาก่อน คาดว่าเงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และเมื่อเพิ่มงานอีก 3 โครงการ วงเงินกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท วงเงิน Action Plan รวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปรับปรุงแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และสอดคล้องกับแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) คมนาคมขนส่งปี 2559-2560 เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ และเป็นโครงการต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัด และแผนดังกล่าวจะเป็นกรอบในการขอรับการจัดสรรงบประมาณของ ร.ฟ.ท. รวมถึงการบรรจุโครงการไว้ในแผนด้านเงินกู้ของกระทรวงการคลังต่อไป
ทั้งนี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2553 เห็นชอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท. ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 วงเงินลงทุนรวม 176,808.28 ล้านบาท ร.ฟ.ท.ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ภายในประเทศ และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมแล้วจำนวน 50,888.44 ล้านบาท โดยได้เบิกจ่ายไปแล้วเป็นเงิน 41,809.99 ล้านบาท หรือ 82.16% ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร
โดยในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางความกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) 7 โครงการ คือ 6 โครงการเดิม ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, นครปฐม-หัวหิน, มาบกะเบา-ชุมทางจิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ และเพิ่มอีก 1 เส้นทาง คือ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) เพื่อให้เส้นทางลงภาคใต้ครบสมบูรณ์
พร้อมกับให้นำโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สายบรรจุไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท.ใหม่ด้วย ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 155,774 ล้านบาท, รถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. และรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กม. เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป