xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” คาดประชุมร่วมไทย-จีนครั้งที่ 10 สรุปเจรจาตั้งบริษัทร่วมทุนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” ตั้งเป้าคุยรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 10 ได้ข้อสรุปตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) 60:40 และมูลค่าโครงการรวม เพื่อคุมงานตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ตอกเข็ม พ.ค.นี้ ไม่เลื่อน ยันไม่มีเงื่อนไขให้สิทธิพัฒนาพื้นที่สองข้างทางกับจีนแน่นอน พร้อมลงพื้นที่รับฟังความเห็นชาวขอนแก่น แจงประโยชน์โครงการ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูล ความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชน ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-จีน ในการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 845 กม. ที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 25 ก.พ.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับจีนเพื่อประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีนครั้งที่ 10 ภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องการตั้งบริษัทร่วมทุน (จัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ขึ้นมาทำหน้าที่วางแผนโครงการตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งไทยเสนอให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัทร่วมทุนเป็น 60% ส่วนไทย 40% และร่วมทุนทั้งโครงการ ตั้งแต่งานก่อสร้าง งานวางราง ระบบอาณัติสัญญาน งานเดินรถและซ่อมบำรุง จากเดิมที่จะตั้งบริษัทร่วมทุนเฉพาะงานเดินรถ เนื่องจากมูลค่าโครงการนั้นสูงมาก รวมถึงมูลค่าโครงการ

ทั้งนี้ รูปแบบของบริษัทร่วมทุนนั้นจะแบ่งสัดส่วนในการร่วมทุนระหว่างไทยกับจีนในงานแต่ละส่วนตามความเหมาะสมด้วย เช่น งานก่อสร้าง ไทยอาจจะลงทุนมากกว่าจีน ส่วนงานรางและระบบอาณัติสัญญาณ จีนอาจจะต้องลงทุนในส่วนมากกว่าไทย เป็นต้น ดังนั้น ในแต่ละงานภายใต้บริษัทร่วมทุนจะมีสัดส่วนการลงทุนไม่เท่ากัน โดยยังคงเป้าหมายเริ่มต้นก่อสร้างโครงการในเดือน พ.ค. 2559 ซึ่งหากจีนไม่ยอมรับข้อเสนอในการเพิ่มสัดส่วนลงทุน หรือร่วมทุนกันทั้งโครงการจะนำเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และกระทรวงการคลังพิจารณาตัดสินใจ

“ครั้งที่แล้วฝ่ายจีนรับข้อเสนอเรื่องสัดส่วนลงทุน 60% ไปพิจารณา จีนระบุว่าโครงการนี้ก่อสร้างในประเทศไทย หากจีนต้องลงทุนมากกว่า เหมือนที่ลงทุนใน สปป.ลาวซึ่งจีนได้รับเงื่อนไขจากลาวถึง 6 ข้อ ในการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางและมีเหมืองแร่เป็นหลักประกัน เป็นต้น ขณะที่ไทยจียเคยบอกว่าอยากได้สิทธิการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางสถานีและรายได้อื่นที่ไม่เกี่ยวกับโครงการ ซึ่งเรื่องนี้ไทยยืนยันกับจีนตั่งแต่ลงนามความร่วมมือว่าเป็นไปไม่ได้ และประเทศไทยไม่เหมือนลาว สิทธิในที่ดินเป็นของการรถไฟฯ"

สำหรับการก่อสร้างนั้น ไทยและจีนมีความเห็นตรงกันในการแบ่งเป็นระยะ โดยช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ (บางซื่อ)-แก่งคอย ระยะทาง 118 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 134 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354 กม.จะอยู่ในระยะแรก ซึ่งจีนเสนอก่อสร้างช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เป็นทางเดี่ยวก่อนในช่วงแรก เพื่อลดต้นทุนโดยจะมีการเตรียมงานด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้ เมื่อปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจะสามารถเพิ่มเป็นทางคู่ได้ และไม่มีปัญหาในการเชื่อมต่อเพราะเส้นทางจากลาว เป็นทางเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม ในการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูล ความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชน ครั้งที่ 3 นี้ มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาและชมนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐานมากกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจ อุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด และประชาชนชาวขอนแก่น โดยชาวชุมชน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ (ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น) โดยขอให้ก่อสร้างช่วงที่ผ่านชุมชน เป็นทางยกระดับ เนื่องจากที่ออกแบบไว้เป็นระดับดินซึ่งนอกจากทำให้ต้องมีการหยุดขบวนรถไฟตัดผ่านทางรถยนต์แล้วยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนบ้านไผ่ จึงยอให้ปรับแบบก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ซึ่งนายอาคมระบุว่า การออกแบบจะต้องคำนึงถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน แต่การยกระดับรถไฟมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งจะต้องสรุปแบบก่อสร้างให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต้องมาปรับเปลี่ยนแบบในระหว่างการก่อสร้าง

โดยการเชื่อมโยงระบบรางไปถึงจีน ผ่าน สปป.ลาว และจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการกระจายความเจริญ และรายได้สู่ภูมิภาคตลอดแนวเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน โดยทุกจังหวัดในแนวเส้นทางรถไฟจะต้องจัดทำแผนพัฒนารองรับเส้นทางรถไฟสายนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทางรถไฟขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นโครงข่ายระบบรางพื้นฐานของประเทศไทยที่จะสามารถพัฒนาให้ระบบรางเป็นการขนส่งหลักได้ ในระยะเร่งด่วน กระทรวงคมนาคมจะก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร โดยช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงนครปฐม-หัวหิน และช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในระหว่างการพิจาณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในปี 2559

ในอนาคตหากโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐานแล้วเสร็จ จ.ขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลาง ด้านคมนาคมขนส่งทางรางที่สำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียน ตามแผนพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565 โดย จ.ขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟ จุดพักและการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งพื้นที่ในภาคตะวันออก และประเทศเพื่อนบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น