xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อุดรฯ เหมาะเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเกษตรหลังเส้นทางรถไฟไทย-จีนเสร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - ก.คมนาคมเปิดเวทีให้ความรู้รับฟังเสียงชาวอุดรธานี เตรียมพลิกโฉมรถไฟไทย โครงการร่วมพัฒนารถไฟไทย-จีนช่วงโคราช-หนองคาย 354 กม. ตั้งเป้าให้อุดรฯ เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเกษตรอีสานตอนบน เพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ แนะทุกจังหวัดตามแนวทางรถไฟผ่านเตรียมแผนพัฒนารองรับสอดรับศักยภาพพื้นที่

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ห้องทุ่งศรีเมืองแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชน ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาโครงการฯ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจ อุตสาหกรรม สมาคมการค้าจังหวัด และประชาชน เข้าร่วมการสัมมนาฯ และชมนิทรรศการหลายร้อยคน
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายออมสินกล่าวว่า เป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐานตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ลงนามของฝ่ายรัฐบาลไทย และผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติเป็นผู้ลงนามของฝ่ายรัฐบาลจีน ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 57 ที่ผ่านมา

จังหวัดอุดรธานีตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเกษตรไทยของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพราะมีพื้นที่เป็นฐานการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน และเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเอทานอลที่สำคัญ

อีกทั้งมีศักยภาพด้านการขนส่ง และแรงงานคน ซึ่งหากในอนาคตโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐานเกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุน การค้า การส่งออก และการท่องเที่ยวให้กับจังหวัด สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดที่ต้องการส่งเสริมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

โครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) มีแนวเส้นทางแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ (บางซื่อ)-แก่งคอย ระยะทาง 118 กม. ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 239 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 134 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354 กม. รวมระยะทาง 845 กม. ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่มีความเร็วสูงในอนาคต

นายออมสินกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐานดังกล่าว สามารถทำให้ไทยเชื่อมโยงระบบรางไปถึงจีนได้ โดยผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการกระจายความเจริญ และรายได้สู่ภูมิภาคตลอดแนวเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน หากทุกจังหวัดในแนวเส้นทางรถไฟมีแผนพัฒนารองรับเส้นทางรถไฟสายนี้ได้อย่างสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่อย่างแท้จริง

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทางรถไฟขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นโครงข่ายระบบรางพื้นฐานของประเทศที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นระบบหลักของการขนส่งทางรางได้ภายในระยะเวลา 5 ปี ดังจะเห็นได้จากโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น

ซึ่งได้เริ่มการก่อสร้างแล้วเมื่อ 19 ก.พ. 59 และการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ระยะทางรวม 688 กิโลเมตร ซึ่งหากทางรถไฟดังกล่าวได้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้การขนส่งในระบบรางของประเทศไทยมีประสิทธิภาพและตรงต่อเวลามากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนารถไฟขนาดทางมาตรฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น