ศูนย์ข่าวขอนแก่น - รมต.คมนาคมนำคณะเปิดเวทีสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นชาวขอนแก่น ในโครงการพัฒนารถไฟไทย-จีน ระบุอนาคตขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งทางรางที่สำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียน เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟ จุดพัก และการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสาน รวมทั้งพื้นที่ในภาคตะวันออก และประเทศเพื่อนบ้าน
วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แอนด์ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูล ความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชน ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร
โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ อุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด และประชาชน ร่วมสัมมนาจำนวนมาก
นายอาคมกล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และใช้เวทีดังกล่าวในการชี้แจงทำความเข้าใจให้กับผู้ร่วมสัมมนาได้รับทราบถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการพัฒนาโครงการรถไฟไทย-จีน
เช่น เกิดความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งด้วยทางขนาด 1.435 เมตร กับจีน ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มสัดส่วนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟ ทำให้ไทยลดต้นทุนการขนส่งและลอจิสติกส์ รองรับการขนส่งผลิตภัณฑ์ สินค้าทั้งอุตสาหกรรรม การเกษตร และพัฒนาด้านแหล่งท่องเที่ยว ที่ถือเป็นการสร้างรายได้สำคัญเข้าสู่ประเทศของเรา
ซึ่งในอนาคตหากโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐานแล้วเสร็จ จังหวัดขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งทางรางที่สำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียนตามแผนพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยจังหวัดขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟ จุดพัก และการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งพื้นที่ในภาคตะวันออก และประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ขนาด 1.435 เมตร มีแนวเส้นทางแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ (บางซื่อ)-แก่งคอย ระยะทาง 118 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 239 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 134 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354 กิโลเมตร รวมระยะทาง 845 กิโลเมตร
ซึ่งจะเป็นการเดินทางและการขนส่งสินค้าอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความเร็วสูงในอนาคตโดยให้ความสำคัญเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นลำดับแรก ส่วนแก่งคอย-มาบตาพุดเป็นระยะต่อไป ความคืบหน้าอยู่ระหว่างทำรายละเอียดโครงการหาข้อสรุปมูลค่าลงทุนที่ยังต่างกันอยู่ระหว่างไทยกับจีน จะเจรจาให้จีนคิดค่าก่อสร้างไม่แพงเกินไป
สำหรับการสัมมนาในประเด็นดังกล่าวจะจัดขึ้นอีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ในวันที่ 1 มี.ค. 59 ณ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส จ.สระบุรี ในวันที่ 2 มี.ค. 59 ณ โรงแรมเกี่ยวอัน และ จ.ระยอง ในวันที่ 10 มี.ค. 59 ณ โรงแรมโนโวเทล ริมแพ รีสอร์ท