xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมทุบโต๊ะเจรจา ไม่จีนก็ต้องญี่ปุ่น ต้องใช้ทางร่วมแอร์พอร์ตลิงก์แก้เขตทางไม่พอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” สรุปแก้ปัญหาเขตทางรถไฟไม่พอ ยันต้องเจรจา “จีน หรือ “ญี่ปุ่น” เพื่อให้โครงการใดโครงการหนึ่งใช้ทางวิ่งร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ด้าน “ออมสิน” เผยรถไฟความเร็วสูงมีเที่ยววิ่งไม่มาก วันละ 4-6 เที่ยวจะเกิดช่วงเวลาที่รางว่าง ใช้ร่วมแอร์พอร์ตลิงก์จะเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ “อาคม” ยันจีนยอมลดดอกเบี้ยเหลือ 2% แล้วรอเจรจาต่อหลังสรุปค่าก่อสร้างรถไฟไทย-จีนชัดเจน

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่ากากระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากประเด็นพื้นที่รถไฟตั้งแต่ช่วง เชียงรากน้อย-บ้านภาชี-สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีเขตทางจำกัด ประมาณ 60-80 เมตร สามารถก่อสร้างทางรถไฟได้จำนวน 8 ราง ซึ่งไม่เพียงพอในการวางทางวิ่งแยกในแต่ละโครงการ โดยต้องการถึง 10 ราง เนื่องจากจะมีหลายโครงการที่วิ่งเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ คือ รถไฟความร่วมมือรถไฟไทย-จีน, ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์, รถไฟสายสีแดง, รถไฟดีเซลราง ซึ่งล่าสุดในการหารือกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ข้อสรุปว่า ต้องมีการใช้ทางร่วมกัน (share Track) ในโครงการที่ใช้รางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) คือ ระหว่างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ กับรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น โครงการใดโครงการหนึ่งซึ่งจะมีเส้นทางร่วมกันในช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยจะต้องเจรจากับทางจีน และญี่ปุ่นต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าระบบรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟความเร็วปานกลาง จะมีความถี่ในการเดินรถแต่ละวันไม่มากประมาณ 4-6 เที่ยวต่อวัน ในขณะที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มีความถี่มากกว่า ปัจจุบันมีความถี่ 12 นาทีต่อขบวน เฉลี่ย 161 เที่ยวต่อวัน และอนาคตจะมีความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 8-10 นาทีต่อขบวนเมื่อมีการขบวนรถเพิ่ม ดังนั้นจะเห็นว่าหากแยกทางวิ่งของรถไฟความเร็วสูงจะมีช่วงเวลาที่รางไม่ได้ใช้ประโยชน์ สรุปจึงต้องใช้ทางร่วมกัน

“เบื้องต้นทางจีนหรือญี่ปุ่นจะไม่ใช้ทางร่วมกันแน่นอน ดังนั้นจะต้องเจรจาให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาใช้ทางร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะพื้นที่เขตทางไม่มีแล้ว ขณะที่จะล้มเลิกแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่เกิดการเชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิกับสนามบินดอนเมือง” นายออมสินกล่าว

จีนยอมลดดอกเบี้ยรถไทย-จีน เหลือ 2%

สำหรับการโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตรและเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตร นั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้รับทราบจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า เมื่อครั้งที่ได้พบกับนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16-20 ธันวาคม 2558 ทางฝ่ายจีน ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 2% แล้ว โดยเป็นอัตราที่ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมเงินกู้ต่างๆ ซึ่งยังสามารถเจรจาได้ และเมื่อรวมแล้ว จะไม่ถึงอัตราดอกเบี้ยเดิม 2.5% ที่จีนเคยเสนอไว้ แต่ขณะนี้เรื่องอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ประเด็น เพราะประเด็นอยู่ที่ค่าลงทุนรวม ต้องสรุปให้ได้ก่อนส่วนดอกเบี้ยจะคุยกันในลำดับต่อไป ซึ่งในการประชุม คณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 10 ในช่วงเดือน ก.พ. 2559 ที่ประเทศจีน จะมีการตรวจสอบรายละเอียดราคาของโครงการเปรียบเทียบกับราคาที่ไทยมีในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น