“คมนาคม” ถกไม่จบปัญหาพื้นที่เขตทางรถไฟไม่พอวางรางแยกระบบ 4 โครงการใหญ่วิ่งเข้าสถานีบางซื่อ รถไฟไทย-จีน, ไทย-ญี่ปุ่น, สายสีแดง, แอร์พอร์ตลิงก์ สั่ง ร.ฟ.ท.ทำข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากที่ได้เสนอ 2 ทางเลือก คือ ยกเลิกแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง หรือให้ใช้ทางร่วมกับรถไฟไทย-จีน ขณะที่เบรกแผนขยายสายสีแดงถึงบ้านภาชี ระบุสิ้นสุดที่อยุธยาเหมาะสมกว่าหวั่นลงทุนซ้ำซ้อน
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นพื้นที่รถไฟตั้งแต่ช่วง เชียงรากน้อย-บ้านภาชี- สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีเขตทางประมาณ 60-80 เมตร สามารถก่อสร้างทางรถไฟได้จำนวน 8 ราง ซึ่งไม่เพียงพอในการวางรางแยกในแต่ละโครงการ เนื่องจากจะมี 4 โครงการที่วิ่งเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อในแนวเดียวกัน คือ รถไฟสายสีแดง, ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน, ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
โดยเบื้องต้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้พิจารณาเรื่องข้อจำกัดเขตที่ดินรถไฟและข้อจำกัดการเดินรถร่วมต่างระบบกัน โดยยังไม่ได้พิจารณาถึงการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และบูรณาการกับโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแนวคิด 2 แนวทาง คือ 1. ก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยายช่วงจากพญาไท-บางซื่อ โดยยกเลิกช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยให้ใช้รถไฟสายสีแดงรองรับการเดินทางแทน ซึ่งที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า หากยกเลิกการก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จะทำให้ผู้โดยสารต้องเปลี่ยนรถที่บางซื่อเพื่อเดินทางต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ และจะเป็นการเปลี่ยนแนวคิดของโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ที่ต้องการเชื่อมการเดินของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง
2. รถไฟไทย-จีน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยายช่วงจากพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ใช้ทางร่วมกัน หรือ share Track ซึ่งหมายความว่า จะต้องใช้ระบบอาณัติสัญญาณ (signaling) เดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงอีก 2 สายที่จะเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อด้วย คือ สายกรุงเทพ-ระยองและสายกรุงเทพ-หัวหิน ดังนั้น ร.ฟ.ท.ไปพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม โดยจะพิจารณาแนวทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ได้เสนอแนวคิดในการขยายเส้นทางรถไฟสายสีแดงต่อขยายช่วง รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์-อยุธยา ต่อไปถึง สถานีชุมทางบ้านภาชี โดยระบุว่าเป็นชุมทางใหญ่ที่รถไฟจะแยกไปยังสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาถึงประเด็นความซ้ำซ้อน แม้ว่ารถไฟสายสีแดงจะเป็นรถไฟฟ้าชานเมือง หรือ Commuter Train มีเป้าหมายเพื่อขนส่งผู้โดยสารที่อยู่ชานเมืองและเมืองบริวารเข้าเมือง ซึ่งแม้จะเป็นผู้โดยสารคนละกลุ่มกับ รถไฟไทย-จีน (รถไฟความเร็วปานกลาง) และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น (รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ซึ่งมีแนวเส้นทางทับซ้อนกัน อาจจะมีผลต่อจำนวนผู้โดยสารได้ แต่จะต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนด้วย เนื่องจากจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ซึ่งมีต้นทุนสูง จึงเห็นว่า สายสีแดงควรสิ้นสุดที่อยุธยาตามแผนเดิม และจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) โดยให้ ร.ฟ.ท.ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม และเสนอมาพิจารณาภายใน 3 เดือนเพื่อสรุปและบรรจุโครงการที่ชัดเจนในแผนแม่บทระบบรางของประเทศ
“ให้ ร.ฟ.ท.และที่ปรึกษารถไฟไปศึกษาวิเคราะห์ตัวเลข ว่าปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟปัจจุบัน, รถไฟไทย-จีน, รถไฟไทย-ญี่ปุ่น จะมีการแบ่งกันอย่างไร ต้องแยกผู้โดยสารในแต่ละระบบออกจากกัน และพิจารณาเรื่องค่าโดยสารของรถไฟไทย-จีนและรถไฟไทย-ญี่ปุ่นเปรียบเทียบกับสายการบินต้นทุนต่ำ เป็นอย่างไร หากค่าโดยสารถไฟแพงจะมีปัญหาเหมือนรถ บขส. ที่ผู้โดยสารเลือกใช้บริการโลว์คอสต์แทน โครงการไม่คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องกายภาพพื้นที่เขตทางรถไฟจะยังไม่มีการพูดคุยในการประชุมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 10 ในช่วงเดือน ก.พ. 2559 ที่ประเทศจีน ซึ่งจะเน้นติดตามผลศึกษาและออกแบบ และอัตราดอกเบี้ยมากกว่า” นายออมสินกล่าว