“ไทย-จีน”ทำพิธีเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์บริหารเดินรถ (OCC) กลางทั้งรางขนาด 1 เมตรเดิม และขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร ยืนยันเริ่มก่อสร้าง พ.ค. 59 จีนเตรียมนำรถไฟรุ่น CRH2G สำหรับผู้โดยสาร ทำความเร็วสูงสุดได้ 250 กม./ชม. เผยทันสมัยและปลอดภัย พ่วงขบวนละ 8 ตู้ รองรับได้ขบวนละ 613 คน ส่วนสินค้าใช้รถจักรไฟฟ้า รุ่น HXD3B และ HXD3C ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2558 เวลา 15.00 น. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมทำสัญลักษณ์ การเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย - จีน ในการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตรและเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตร ณ สถานีรถไฟเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัด พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฎิรูปแห่งชาติจีน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคมและนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วม
โดยพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสาสน์แสดงความยินดีจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดแนบแน่นและมีรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งในปีนี้เป็นปีสำคัญในโอกาสครบ 40 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ได้ก่อให้เกิดความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่รอบด้าน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โครงการความร่วมมือด้านรถไฟจะเป็นอีกหนึ่งผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของความร่วมมือไทย-จีน และจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในอนาคต และยินดีในโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจัดพิธีเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ณ สถานีรถไฟเชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาขึ้นในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นเส้นทางสำคัญที่จะกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สถานีเชียงรากน้อย นี้จะเป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถ หรือ OCC ของโครงการตลอดเส้นทาง ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา เป็นวันที่ไทยและจีนได้ ลงนามความร่วมมือนี้ร่วมกัน และผ่านมา 1 ปีถึงวันที่ 19 ธ.ค. 2558 สามารถทำให้โครงการมีความชัดเจนคือมีพิธีเริ่มต้นโครงการซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการจะเดินหน้าต่อไป
นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวสาสน์แสดงความยินดีจาก นายหลี่ เคอะ ฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า การที่ประเทศจีนกับประเทศไทยได้ดำเนินความร่วมมือทางด้านรถไฟนั้น สอดคล้องกับความต้องการแห่งการพัฒนาและผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศและมีความหมายสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมความเชื่อมโยงกันของภูมิภาคด้วย เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เราได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือรถไฟจีน-ไทย ณ กรุงเทพฯ โดยการเอาใจใส่และผลักดันจาก ฯพณฯ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันเป็นเวลาหนึ่งปีจากทั้งสองฝ่าย ความร่วมมือฯ ได้เกิดความคืบหน้าอันสำคัญ หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้ความพยายามต่อไป เพื่อให้โครงการ ความร่วมมือทางรถไฟดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น เพื่อสร้างพื้นฐานอันแข็งแกร่งให้เส้นทางรถไฟหลักที่เชื่อมต่อประเทศจีน - ลาว - ไทยสำเร็จขึ้นในเร็ววัน ส่งเสริมการพัฒนาและสร้างความผาสุกให้กับประชาชนในภูมิภาค
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมกล่าวว่า โครงการนี้ริเริ่มในขณะที่พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้ดำเนินการเร่งรัดผลักดันให้โครงการนี้มีความก้าวหน้า ด้วยความตั้งใจจริงที่จะให้โครงการเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งวันนี้นั้น เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ที่และยังถือเป็นงานสำคัญหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองการครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีนอีกด้วย
ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมจึงเร่งรัดผลักดันโครงการรถไฟไทย-จีน ขนาดทางมาตรฐานให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยมีเป้าหมายเริ่มต้นก่อสร้าง ในเดือนพ.ค. 2559 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี - 3.5 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟของไทยกับอาเซียนเชื่อมต่อไปยังจีนตอนใต้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ และสอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่จะมีการเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจและประชาชน
สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย - จีน จะใช้ระบบเทคโนโลยีของจีนโดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ 1.งานด้านโยธา ฝ่ายไทยรับผิดชอบงานโยธาและงานด้านแหล่งจ่ายไฟฟ้ากำลังฝ่ายจีน รับผิดชอบงานเจาะอุโมงค์งานวางระบบสะพานพิเศษและทางบนเนินเขา 2.งานด้านระบบการจัดการเดินรถ ฝ่ายจีนรับผิดชอบงานวิศวกรรมทางรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบขับเคลื่อนรถไฟและระบบควบคุมฝ่ายไทยรับผิดชอบ การจัดหาวัสดุและการขนย้ายอุปกรณ์การก่อสร้าง
รถไฟสำหรับผู้โดยสารเป็นรถไฟรุ่น CRH2G ที่ทันสมัยและปลอดภัยใช้ความเร็วสูงสุดได้ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในแต่ละขบวนจะมีตู้โดยสาร 8 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ขบวนละ 613 คน รถจักรสำหรับลากจูงขบวนสินค้า เป็นรถจักรไฟฟ้า รุ่น HXD3B และ HXD3C มีกำลังขับเคลื่อนสูงสุด 9,600 กิโลวัตต์ ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แนวเส้นทางโครงการรถไฟไทย-จีน แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ 1.ช่วงกรุงเทพฯ (บางซื่อ)- แก่งคอย ระยะทาง 118.142 กิโลเมตร 2.ช่วงแก่งคอย - นครราชสีมา ระยะทาง 134.213 กิโลเมตร 3.ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 238.829 กิโลเมตร 4.ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 354.090 กิโลเมตร รวมระยะทาง 845.274 กิโลเมตร ตามแผนการดำเนินงานจะใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์ควบคุมและบริหารการเดินรถกลาง (OCC : Operation Control Center) ในการควบคุมการจราจรของรถไฟทั้งหมดและจะออกแบบให้สามารถใช้งานได้ทั้งการจัดการและควบคุมการใช้งานทางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร และรองรับการใช้งานทางขนาด 1 เมตร ที่มีอยู่และที่เตรียมจะสร้างในอนาคต