ครม.ครม.ไฟเขียวร่าง MOU ไทย-จีน ก่อสร้างรถไฟทางคู่ รางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตรเตรียมเสนอ สนช.เห็นชอบต่อไป พร้อมตั้ง"ประจิน"หัวหน้าคณะกรรมการฝ่ายไทย เจรจารายละเอียดกับจีน ในรูปแบบคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย คาด ธ.ค. ลงนามMOU ได้เดินหน้าสำรวจพื้นที่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (25 พ.ย.) มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) พัฒนารถไฟระหว่างประเทศไทย-จีน ขนาดรางมาตรฐาน ความกว้าง 1.435 เมตร (Stand Gauge) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยขั้นตอนจากนี้ จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบ ก่อนไปลงนามร่วมกันอีกครั้ง ส่วนรายละเอียดว่าจะมีความร่วมมือกันในเส้นทางใด หรือมีรูปแบบความร่วมมืออย่างไรนั้น จะต้องไปหารือกันในระดับของคณะกรรมการต่อไป
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 มีสาระสำคัญคือการร่วมมือก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางหนองคาย-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-บ้านภาชี-บางซื่อ ระยะทาง 133 กิโลเมตร ซึ่งเป็นความร่วมมือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government To Government หรือ G To G)
ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือตามกรอบ MOU ฉบับดังกล่าว โดยฝ่ายไทยมอบหมายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ส่วนฝ่ายจีนจะมีประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ประสานงานร่วมกัน และให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมมือ ตั้งแต่การเจรจารายละเอียดรูปแบบโครงการ รวมถึงงานด้านการสำรวจออกแบบเส้นทาง แนวทางร่วมมือในการก่อสร้างฐานรางรถไฟ ซึ่งจะใช้กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน
และ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบร่าง MOU ความร่วมมือในด้านสินค้าเกษตรไทย-จีน ซึ่งจีนสนใจที่จะซื้อข้าว และยางพาราจากไทย เพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ที่จะครบรอบ 40 ปี ในปีหน้า โดยตามข้อตกลงล่าสุด ยังไม่ได้ระบุปริมาณของสินค้าเกษตรของไทยที่จีนจะซื้อ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์จะรับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักพิจารณารายละเอียดของข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งว่าจะขายข้าวและยางให้จีนจำนวนเท่าใด
ก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน ระบุถึงรูปแบบการลงทุนระหว่างไทย-จีนว่า เบื้องต้นพิจารณาไว้ 3 แนวทาง โดยไทยจะร่วมลงทุนในสัดส่วนที่น้อยกว่าจีน เช่น 20:80 หรือ 15: 85 หรือ 0:100 ประกอบด้วยแนวทางที่ 1 การร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public–Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเอกชนในที่นี้หมายถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง
2. Build-Operate-Transfer Contract หรือ BOT ด้วยการจ้างเอกชนลงทุนก่อสร้าง พร้อมให้สัมปทานบริหารและเก็บค่าบริการ จนครบอายุสัมปทานก็จะโอนกรรมสิทธิ์ให้กับรัฐบาลไทย 3. Engineering Procurement Construction and Finance หรือ EPC&F คือให้เอกชนลงทุนสำรวจออกแบบก่อสร้าง และบริหาร จัดการ จัดเก็บค่าบริการ เพื่อชำระหนี้ โดยในข้อตกลงจีนจะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนให้
และคาดว่าจะสามารถนำร่าง MOU ไปลงนามที่ประเทศจีนภายในเดือนธันวาคม 2557 ให้มีผลในทางปฏิบัติเดือนมกราคม 2558 ซึ่งไทย-จีน จะเริ่มดำเนินการสำรวจแนวเส้นทาง ออกแบบ และประเมินราคาให้ชัดเจน