xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กจิน” เร่งเครื่องรถไฟทางคู่ กทม.-หนองคายเชื่อมจีน ชง ครม.เห็นชอบเอ็มโอยู ยกเลิกเงื่อนไข รบ.ชุดที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ประจิน” เผยเตรียมชง ครม. 18 พ.ย.นี้ เห็นชอบกรอบเอ็มโอยู ไทย-จีนพัฒนารถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-แก่งคอย-บ้านภาชี-บางซื่อ วงเงิน 4 แสนล้าน เล็งยกเลิกข้อตกลงแลกสินค้าเกษตรเดิม เปิดทางจีนหาแหล่งเงินทุน คาดตั้งคณะทำงานร่วมเริ่มสำรวจแนวเส้นทาง ออกแบบ ม.ค. 58 เล็งดึงญี่ปุ่น เกาหลีร่วมพัฒนาสนามบินและบริหารจัดการน้ำ พร้อมกันนี้ได้เร่งสรุปแผนพัฒนาโครงข่ายถนน และสนามบิน 6 ด่าน ศก.พิเศษ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟซึ่งจีนมีความต้องการฟื้นเส้นทางสายไหมเชื่อมจากเวียงจันทน์ต่อกับไทยที่หนองคาย เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทางรวม 867 กม. ซึ่งจะเป็นรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) แบ่งเป็นช่วงหนองคาย-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และช่วงแก่งคอย-บ้านภาชี-บางซื่อ ระยะทาง 133 กม. วงเงินลงทุนรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยจะเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยจะจัดทำกรอบบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ ในการประชุมวันที่ 18 พฤศจิกายน หรืออย่างช้าไม่เกินสัปดาห์ต่อไป เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และลงนามในเอ็มโอยูร่วมกันให้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ที่ประเทศจีน เพื่อให้มีผลทางปฏิบัติในเดือนมกราคม 2558 โดยทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันในการสำรวจออกแบบและประมาณการราคาค่าก่อสร้างที่ชัดเจน

โดยขณะนี้มี 2 แนวคิดที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คือ 1. ยกเลิกข้อตกลงในเอ็มโอยูของรัฐบาลเดิมที่เคยลงนามมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีข้อตกลงการใช้สินค้าเกษตร ข้าว ยางพาราของไทย แลกกับการให้จีนลงทุนโครงการพื้นฐาน หรือ 2. คงเงื่อนไขในเอ็มโอยูฉบับเก่าที่เป็นประโยชน์ไว้ รวมกับเอ็มโอยูที่จะมีการลงนามใหม่ โดยหลักการจะไม่มีรูปแบบการใช้สินค้าเกษตรแลกเปลี่ยนแล้ว

สำหรับรูปแบบการลงทุนในเอ็มโอยูไทย-จีน จะมี 3 แนวทาง โดยจะเป็นการร่วมลงทุน โดยไทยจะมีสัดส่วนน้อยกว่าจีน เช่น 20 ต่อ 80 หรือ 15 ต่อ 85 หรือ 0 ต่อ 100 โดยมีหลายแนวทาง เช่น การร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public–Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเอกชนในที่นี้หมายถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง หรือ Build-Operate-Transfer Contract หรือ BOT คือ เอกชนเป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง บริหาร พร้อมให้สัมปทานบริหารและเก็บค่าบริการจนครบอายุสัมปทานจะโอนกรรมสิทธิ์ให้กับรัฐบาลไทย 3. Engineering Procurement Construction and Finance หรือ EPC&F คือให้เอกชนลงทุนสำรวจออกแบบก่อสร้าง และบริหาร จัดการ จัดเก็บค่าบริการ เพื่อชำระหนี้ โดยในข้อตกลงจีนจะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนให้

“ในแง่ของการลงทุน ไทยกับจีนจะร่วมกันแต่เราลงน้อยกว่า และเราจะเลือกรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีอยู่ 5 หน่วย ว่าจะใช้หน่วยไหนมารับผิดชอบงานก่อสร้าง ซึ่งหลังจากลงนามเอ็มโอยูร่วมกันเดือนมกราคม 2558 จะเริ่มต้นสำรวจแนวเส้นทาง ออกแบบ และประเมินค่าก่อสร้างให้ชัดเจน โดย 4 แสนล้านเป็นกรอบคร่าวๆ ที่วางไว้เบื้องต้น ต้องรอการสำรวจรายละเอียดจึงจะได้วงเงินลงทุนที่ชัดเจน” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือไทย-จีน ขณะนี้มีเส้นทางรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1 เส้นทาง และในเดือนธันวาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการหารือในการร่วมมือพัฒนาท่าอากาศยาน และท่าเรือร่วมกัน รวมถึงความร่วมมือกับประเทศอื่น เช่น เกาหลี ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

***เร่งสรุปแผนพัฒนาโครงข่ายถนน และสนามบิน 6 ด่าน ศก.พิเศษ
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีการประชุมเพื่อสรุปแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะเร่งด่วน 5 พื้นที่ 6 ด่าน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) บริเวณชายแดน ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ในการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมและด่านศุลกากร ซึ่งจะเริ่มมีการพัฒนาในปีงบประมาณ 2558 เช่น การสำรวจ ออกแบบ เวนคืน และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนปี 2559 จะต้องเร่งทำแผนงานให้ชัดเจนให้แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2558 เพื่อบรรจุให้ทันกับงบประมาณปี 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น