“ประจิน” สั่ง ร.ฟ.ท.ทบทวนแผนฟื้นฟู ชี้ยังขาดรายละเอียดและต้องปรับข้อมูลให้ทันสมัย ให้รายงานใน 4 พ.ย. ก่อนเสนอซูเปอร์บอร์ดพิจารณา และเปิดโต๊ะเจรจาคลังช่วยล้างหนี้สิน สรุปแผนเดินรถสีแดง เลือกแนวทำเอง, ตั้งบริษัทลูก หรือจ้างเอกชน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วันนี้ (29 ต.ค.) ว่า ได้หารือกับผู้บริหาร ร.ฟ.ท. และผู้บริหารสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เรื่องการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ฟ.ท. ซึ่งก่อนหน้านี้บอร์ด ร.ฟ.ท.ที่มีนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแผนแล้วตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา แต่เนื่องจากเห็นว่าแผนฟื้นฟูยังขาดรายละเอียดที่จะนำไปชี้แจงต่อคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด อีกทั้งทำเป็นเอกสารที่มีจำนวนมากเกินไป จึงให้ ร.ฟ.ท.ไปปรับเพิ่มรายละเอียดการดำเนินแผนให้ชัดเจน พร้อมทั้งจัดทำรูปแบบการนำเสนอให้เข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ได้เร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.ทำแผนการบริหารการเดินรถโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เสนอเป็นแนวทางมาให้ชัดเจนว่าจะเดินรถเอง, ตั้งบริษัทลูก หรือว่าจ้างเอกชน และให้นำส่งมายังกระทรวงฯ ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ต้องไปตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของตัวเองว่ามีเท่าไร ต้องการให้รัฐบาลช่วยแบ่งเบาภาระเท่าไร ต้องจัดกลุ่มมาว่าโครงการใดได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เพื่อให้รู้สถานะปัจจุบัน เพราะในแผนที่เสนอมีบางเรื่องที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ไปดำเนินการในปี 57-58 แล้ว ซึ่งต้องมีแผนงานว่าในช่วงที่รอการก่อสร้างรถไฟทางคู่เพิ่มเติมจะแก้ปัญหาและมีแนวทางที่จะทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟมากขึ้นได้อย่างไร และต้องทำไปถึงปี 65 ว่ามีปัญหาอะไร จะแก้ไขอย่างไรด้วย
สำหรับปัญหาของ ร.ฟ.ท.นั้นมี 3 เรื่องหลัก คือ 1. การบริหารงานภายใน ต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้การบริการดีขึ้น เช่นการปรับตัวชี้วัด (KPI) การเดินรถในแต่ละเส้นทางให้ใช้เวลาลดลง 2. ภาระหนี้สินเกือบแสนล้านบาท หากจะให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือ ร.ฟ.ท.ควรมีแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพย์สินหรือการเดินรถเช่น ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เป็นต้น 3. ปรับปรุงโครงสร้างทางรางซึ่งกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเสนอจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางเพื่อรับผิดชอบการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเมื่อเป็นรูปธรรม ร.ฟ.ท.จะทำหน้าที่เดินรถและบริการ
“ในการเจรจาแผนฟื้นฟูรถไฟนั้นจะต้องมีการจัดคณะไปเจรจา ทั้งในระดับ รมว.คมนาคมกับ รมว.คลัง และระดับปลัดกระทรวงคมนาคมกับปลัดกระทรวงคลัง ดังนั้นตัวเลขและแนวทางแก้ปัญหาจะต้องชัดเจน เข้าใจง่าย” พล.อ.อ.ประจินกล่าว