“คมนาคม” เดินหน้าจัดตั้งกรมขนส่งทางราง ชี้มีความจำเป็นทำให้แยกบทบาทการลงทุนการกำกับดูแล และการบริการระบบรางได้ชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมลอจิสติกส์ และเพื่อรองรับรถไฟทางคู่อีกกว่า 6,000 กม.
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากหน่วยงานทุกภาคส่วนในการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อรองรับการพัฒนาระบบการขนส่งในอนาคต ว่า ปัจจุบันการขนส่งทางรางโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศรวมระยะทางประมาณ 4,000 กิโลเมตร และขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะก่อสร้างรถไฟทางคู่รวมระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร รวมทั้งผลักดันการก่อสร้างทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งหน่วยที่รับผิดชอบในการขนส่งทางรางโดยเร็ว
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางเพื่อแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกำกับดูแลออกจากการประกอบการหรือการบริการ จากเดิมที่ ร.ฟ.ท.รับผิดชอบทั้งหมด โดยกรมการขนส่งทางรางจะเข้ามามีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการลงทุนและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งกำกับดูแลด้านความปลอดภัย และกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบที่จำเป็น เช่น การจัดให้มีและการใช้โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ด้านการประกอบกิจการ นอกจากนี้จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยและด้านการประกอบกิจการและกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะสามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมได้เป็นอย่างดี และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและระบบลอจิสติกส์เพื่อรองรับการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสะดวกรวดเร็ว และน่าเชื่อถือ
ส่วน ร.ฟ.ท.จะมีบทบาทในการเป็นผู้ให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า และอาจรับจ้างกรมการขนส่งทางรางดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งคาดว่าหากไม่มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานภายในปี 2558 กรมการขนส่งทางรางจะสามารถจัดตั้งได้
ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากทุกภาคส่วน สรุปเป็นแนวทางรายละเอียดในการเสนอขอจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ภายในสิ้นปี 2557 และหลังจาก ก.พ.ร.พิจารณาเห็นชอบแล้วจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ เพื่อเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป