xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ไฟเขียว ทอท.ปรับสุวรรณภูมิเฟส 2 อั้นงบห้ามเกิน 6.25 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ประจิน” เคาะสุวรรณภูมิเฟส 2 ครั้งสุดท้าย ตัดอาคารตะวันออกทิ้ง ดึง Multi-Function Terminal เสียบแทน อ้างเหตุคุ้มค่ามากกว่า กำชับ ทอท.ทำแผน เกลี่ยงานให้ทำในกรอบงบ 6.25 หมื่นล้านเท่าเดิม เตรียมชง ครม.พ.ย.นี้ปรับแผนงาน และชง ครม.อนุมัติเปิดประมูลรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น 2.6 หมื่นล้านใน พ.ย.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงิน 62,503.214 ล้านบาทว่า ล่าสุดได้มีการปรับแผนงานใหม่ โดยจะตัดงานออกแบบและก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารไปทางด้านทิศตะวันออก วงเงิน 6.78 พันล้านบาทออกจากเฟส 2 เดิม และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (Multi-Function Terminal) ด้านทิศเหนือ วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากอาคารด้านตะวันออกมีพื้นที่น้อย ไม่คุ้มค่าการลงทุน ส่วนงานก่อสร้างอื่น รวมถึงงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Midfield Satellite) วงเงิน 27,864.653 ล้านบาทยังคงเดิมทั้งหมด โดยจะต้องดำเนินงานตามแผนที่ปรับใหม่ภายใต้กรอบวงเงินที่ 6.25 หมื่นล้านบาท ไม่มีการเพิ่มงบ ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จะต้องทำแผนรายละเอียด เพื่อเร่งสรุปแผนพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ส่วนงานก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ยังต้องเดินหน้าต่อและถือเป็นงานเร่งด่วนเพราะมีความสำคัญ เนื่องจากรันเวย์ที่ 1 และ 2 ที่ใช้งานในปัจจุบันมีอายุการใช้งาน 8 ปีแล้ว และเมื่อครบ 10 ปีจะต้องปิดซ่อมแซมใหญ่ จึงต้องมีรันเวย์ที่ 3 เข้ามาช่วยรองรับเที่ยวบินแทน 
                
สำหรับการลงทุนนั้นจะแบ่งเป็น 2 ระยะเช่นเดิม โดยระยะแรกประกอบด้วย 1. งานออกแบบและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 วงเงิน 2.78 หมื่นล้านบาท 2. งานออกแบบและก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) วงเงิน 7.97 พันล้านบาท 3. งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 จำนวน 28 หลุมจอด วงเงิน 4.9 หมื่นล้านบาท 4. งานออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 2.69 พันล้านบาท 5. งานออกแบบและก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน และที่จอดรถ (อาคารจอดรถ) วงเงิน 625.6 ล้านบาท และ 6. รันเวย์ที่ 3 ส่วนระยะที่ 2 จะดำเนินการ Multi-Function Terminal
                               
พล.อ.อ.ประจินกล่าวถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ว่า มีความชัดเจนแล้วว่ากระทรวงคมนาคมจะทยอยนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการรวม 5 เส้นทาง คือ สายชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท ที่จะเสนอ ครม.ภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ 
                
จากนั้นในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 จะเสนอสายทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,293 ล้านบาท และในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2558 จะเสนออีก 3 สายทางที่เหลือ คือ สายนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,038 ล้านบาท สายมาบกะเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,855 ล้านบาท และสายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท
                
นอกจากนี้ ในปี 2558 กระทรวงคมนาคมจะเริ่มดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ใช้รางขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) ความกว้าง 1.435 เมตร ความเร็ว 160-180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกอบด้วย 1. หนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท โดยต่อยอดมาจากผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย 2. เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท โดยต่อยอดมาจากผลการศึกษาโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงเด่นชัย-เชียงราย
กำลังโหลดความคิดเห็น