อดีต ส.ส.ปชป.ท้วง สนข.มกเม็ดงบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาขนส่งระบบราง เปลี่ยนเส้นทางที่ศึกษาแล้ว กลายเป็น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด ชี้ทำไมต้องอ้อมให้เสียเวลา ถ้าต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูงก็ควรระบุให้ชัด
วันนี้ (3 พ.ย.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เสนอยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย ปี 2558 ถึง 2565 ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยยุทธศาสตร์นี้มี 5 แผนงาน ใช้วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทนั้นว่า ตนดูรายละเอียดแล้วพบว่าแผนงานนี้รวมตัวเลขได้ 3.44 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการที่โดดเด่นคือ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวม 2 เส้นทาง คือ (1) หนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท (2) เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท รวม 2 เส้นทาง 741,460 ล้านบาท
จากนั้นยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนตลอดมา จนถึงวันนี้ได้ปรับเปลี่ยนวงเงินเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท อีกทั้งโครงการรถไฟทางคู่ขนานราง 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 2 เส้นทาง ก็ถูกเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทาง ประกอบด้วย (1) กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และ นครราชสีมา-มาบตาพุด (2) กรุงเทพฯ-ระยอง และ (3) นครราชสีมา-หนองคาย พร้อมทั้งปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเปลี่ยนชื่อโครงการจากรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร เป็นรถไฟความเร็วสูง
“เมื่อเห็นเส้นทางก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นการดัดแปลงจากแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงงงที่ สนข.กล้าปรับเปลี่ยนแผนแม่บทที่ผ่านการศึกษามาแล้ว มาเป็นเส้นทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด และนึกไม่ออกว่าจะมีใครคิดจะเดินทาง หรือขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปมาบตาพุดโดยผ่านนครราชสีมา ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมให้เสียเวลา จึงเห็นว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 หากต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็ควรระบุให้ชัดไปเลยว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงไม่ใช่รถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร และหากเป็นเช่นนั้นก็ควรพิจารณาเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงเป็น 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมกำหนดวงเงินของยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน เพื่อที่จะหาแนวทางระดมเงินทุนได้ ซึ่งทั้งหมดตนอยากเห็น สนข.เป็นหลักที่ยืนหยัดอยู่บนเหตุผลทางวิชาการให้กับทุกรัฐบาล ไม่โอนเอนไปตามกระแสทางการเมือง” นายสามารถระบุ