คมนาคมเสนอ สนช.พิจารณาร่าง MOU รถไฟทางคู่ไทย-จีน คาดบรรจุเป็นวาระประชุม 4 ธ.ค.นี้ โดยมีสาระสำคัญ 7 ข้อ ตั้งเป้าลงมือก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2559 จีนหนุนก่อสร้างและการเงิน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือส่งถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 พร้อมทั้งแนบร่าง MOU ดังกล่าวนำส่งไปพร้อมกัน โดย สนช.ได้บรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมในวันที่ 4 ธันวาคมนี้
สำหรับสาระสำคัญของร่าง MOU ดังกล่าวมี 7 ข้อ ประกอบด้วย 1. รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล
2. ในการดำเนินการตามเนื้อหาข้างต้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นพ้องที่จะใช้หลักการดังนี้
2.1 ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟเส้นทางดังกล่าว สำหรับการสนับสนุนเงินลงทุน และการชำระเงินลงทุนจะมีการหารือกันต่อไป
2.2 ฝ่ายไทยตกลงที่จะให้ฝ่ายจีนเข้ามามีส่วนร่วมในโอกาสแรกที่เป็นไปได้ ในขั้นตอนการเตรียมการของโครงการ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ และจะพยายามให้เริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2559
2.3 ในการประเมินมูลค่าโครงการ ให้เป็นการหารือระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งให้องค์กรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของ 2 ฝ่ายเป็นผู้ประเมิน
2.4 ทั้ง 2 ฝ่ายจะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือของโครงการ โดยจะหารือกันต่อไปเกี่ยวกับรูปแบบดังกล่าว
3. ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ สำหรับไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานร่วม สำหรับจีนให้ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธานร่วม
4. ในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ในประเทศคู่ภาคี
5. ในกรณีที่สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า
6. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจแก้ไขโดยความเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร
7. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี นอกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือนล่วงหน้า ทั้งนี้หากไม่มีการบอกเลิก บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยระบุว่า จะพยายามผลักดันให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยมีส่วนในงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ดังกล่าว แม้เบื้องต้นไทยจะต้องให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านงานก่อสร้างของจีนซึ่งมีอยู่ 5 หน่วยงานเป็นผู้รับงานก็ตาม โดยในเดือนธันวาคมนี้คาดว่าไทย-จีน จะสามารถร่วมลงนามใน MOU ได้ และเริ่มทำงานร่วมกันในเดือนมกราคม 2558 ด้วยการสำรวจแนวเส้นทาง ออกแบบ และประเมินราคาให้ชัดเจน จากกรอบที่ตั้งไว้เบื้องต้นคือ 4 แสนล้านบาท