xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟมั่นใจ จัดประมูลล็อตใหญ่ถึงปลายปี 59 มูลค่ารวมกว่า 5.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.มั่นใจเปิดประมูล 11 โครงการใหญ่ วงเงินรวมกว่า 5.5 แสนล้านได้ในปีนี้ รถไฟทางคู่ 7 สาย ไฮสปีด 2 สาย รถไฟฟ้า 3 โครงการ ชงแผนก่อสร้างเข้าคมนาคมและ ครม.ขออนุมัติประมูล ส่วนงานเดินรถไฟฟ้าตามแผนร่วมทุน PPP ไม่มีปัญหา รอนโยบาย พร้อมรับเดินรถเอง

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ภายในปี 2559 จะสามารถเปิดประกวดราคาโครงการที่อยู่ในแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2558-2559 ได้ทั้งหมด รวมมูลค่ากว่า 556,570 ล้านบาท ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,290.63 ล้านบาท และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,853.18 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ส่วนช่วง ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,306.53 ล้านบาท คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA (คชก.) เห็นชอบแล้วอยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยจะเร่งเสนอเรื่องมากระทรวงภายในสัปดาห์นี้เพื่อเสนอ ครม. ส่วนช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงินประมาณ 9,437 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน EIA

ส่วนโครงการที่ต้องขออนุมัติก่อสร้างและพิจารณาเรื่องการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ประกอบด้วย รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท เฉพาะช่วงบางซื่อ-พญาไท วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ได้รายงานเข้ากระทรวงเพื่อเสนอ ครม.แล้ว ส่วนงานศึกษาการร่วมงาน PPP นั้นจะสรุปผลการศึกษาในเดือน เม.ย.นี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. วงเงิน 152,528 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงิน 94,673.16 ล้านบาท นั้นจะสรุปผลศึกษา PPP เสนอกระทรวงคมนาคมในเดือน เม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม รถไฟได้เสนอรับผิดชอบการเดินรถสายสีแดงเอง ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายอยู่ที่นโยบายว่ารัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเองหรือไม่ และให้งานเดินรถเป็นการร่วมทุน PPP ซึ่งอาจจะต้องรวมกับแอร์พอร์ตลิงก์เดิมไปด้วย ในขณะที่ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมความพร้อมในการจัดตั้งหน่วยธุรกิจที่จะรับผิดชอบการเดินรถไฟฟ้าเองไว้แล้ว

ส่วนรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ 1. สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม. วงเงิน 66,000 ล้านบาท 2. สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. วงเงิน 77,486 ล้านบาท จะเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบในวันที่ 12 เม.ย.ก่อน จากนั้นจะสรุปเสนอคมนาคมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น