ร.ฟ.ท.ปรับทีโออาร์ประมูลทางคู่ 4 เส้นทางใหม่ รื้อสเปกเปิดกว้างผู้รับเหมาร่วมประมูลได้หลายราย หลัง คตร.ตั้งข้อสังเกตจ่อลดทุนจดทะเบียน “วุฒิชาติ” เผย มิ.ย.เปิดประมูลได้ตั้งเป้าเซ็นสัญญาครบใน ธ.ค. 59 พร้อมใช้ ม.44 เร่งประมูลช่วงหัวหิน-ประจวบฯ กว่า 1 หมื่นล้านด้วย ขณะที่บอร์ดสั่งที่ปรึกษาทบทวนข้อมูลเพิ่มเติมไฮสปีด “กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง” วงเงินกว่า 2.5 แสนล้าน เร่งชงคมนาคมในอาทิตย์นี้
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างขอบเขตงาน (TOR) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 4 เส้นทาง เพื่อเปิดกว้างให้มีผู้เข้าร่วมประมูลได้มากรายขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่มีการตั้งข้อท้วงติงและมีข้อสังเกตจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยจะสรุปร่าง TOR ที่ปรับปรุงใหม่ภายในเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเริ่มทยอยประกาศประกวดราคาได้ โดย ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าลงนามสัญญากับผู้รับจ้างหมดทั้ง 4 เส้นทางภายในเดือน ธ.ค.นี้
“มีข้อสังเกตว่า TOR เดิมอาจจะเปิดโอกาสให้มีผู้เข้าร่วมประมูลได้น้อยรายหรือไม่ หรือได้เฉพาะรายใหญ่ ซึ่ง TOR ที่ปรับใหม่อาจจะมีการพิจารณาถึงเรื่องทุนจดทะเบียนที่เหมาะสมและเปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงข้อกำหนดเรื่องประสบการณ์ของผู้ยื่นประมูล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของการทำงาน ส่วนราคากลางนั้นจะเป็นไปตามมาตรฐานระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และกรมบัญชีกลาง โดยยังคงยึดหลักสัญญาก่อสร้างเพียงสัญญาเดียวเหมือนเดิม” นายวุฒิชาติกล่าว
โดยรถไฟทางคู่ 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. เส้นทางช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินลงทุน 29,667.66 ล้านบาท 2. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงินลงทุน 17,249.90 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) เห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว 3. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงินลงทุน 24,940.96 ล้านบาท 4. ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงินลงทุน 20,145.03 ล้านบาท ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้วเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ สผ. โดยจะใช้มาตรา 44 ในการเปิดประมูลไปก่อนและทยอยลงนามสัญญาเมื่อ EIA ผ่านแล้ว
นอกจากนี้ จะใช้ ม.44 ดำเนินการเปิดประมูลรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงินลงทุน 10,301.95 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างยื่นผลศึกษา EIA เพื่อขอความเห็นชอบตามขั้นตอน โดยเป็นเส้นทางที่เพิ่มเติมในแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) งานคมนาคมขนส่ง ปี 2559-2560
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 155,774 ล้านบาท คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น พิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ปรับฐานตัวเลขบางตัวที่อาจมีผลต่อการลงทุน เนื่องจากเห็นว่าตัวเลขที่มีการวิเคราะห์ไว้นั้นอาจจะมีรายละเอียดไม่เพียงพอ เพราะก่อนที่จะนำเสนอผลศึกษาโครงการไปกระทรวงคมนาคมเพื่อขอความเห็นชอบก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการ PPP เพื่อเข้ามาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP fast Track) ซึ่งจะต้องมั่นใจในรายละเอียดทุกเรื่อง คาดว่าจะสรุปเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยตามเป้าหมายจะเปิดประมูลทั้ง 2 โครงการภายในปี 2559