“อาคม” เล็งตั้งบริษัทลูก ร.ฟ.ท. 3 ส่วน (ก่อสร้าง, เดินรถ, พัฒนาเชิงพาณิชย์) คุมรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ยอมรับเป็นไปได้บริษัทเดินรถกับพัฒนาฯ อาจต้องรวมกันเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ ขณะที่ไฮสปีดกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-หัวหิน จะแยกบริษัทบริหารเดินรถเพื่อวัดประสิทธิภาพแต่ละเส้นทางได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายใต้ความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนนั้น หลักการและแนวคิดในเบื้องต้นจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อดูแลใน 3 ส่วน คือ บริษัทด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน, บริษัทด้านการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และบริษัทบริหารการเดินรถ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สรุปชัดเจน โดยบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินของ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่อาจจะรวมการพัฒนาเชิงพาณิชย์และการเดินรถเป็นบริษัทเดียวกันเพื่อนำรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์มาช่วย ส่วนบริษัทก่อสร้างทางนั้นจะมีรายได้จากบริษัทเดินรถที่จะต้องจ่ายค่าเช่าใช้ราง
ซึ่งรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จะใช้แนวคิดเดียวกัน โดยการแยกการบริหารเดินรถออกจากกัน จะแยกบัญชี แยกหนี้สิน สามารถวัดประสิทธิภาพในการบริหารการเดินรถของแต่ละเส้นทางได้ชัดเจน ขณะที่หากตั้งเป็นบริษัทเดียวกันรับผิดชอบการเดินรถทั้งสองเส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะทำให้บริษัทนั้นรับภาระหนักเกินไป ซึ่งในหลายประเทศแยกการบริหารงานเดินรถแต่ละเส้นทางออกจากกัน เช่น ญี่ปุ่น เดิมเคยมีบริษัทเดียวควบคุมดูแลรถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าหลายสาย แต่เกิดปัญหา ในที่สุดต้องแยกเพื่อให้แต่ละเส้นทางบริหารให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง
“การรถไฟฯ จะต้องทำแผนการจัดตั้งบริษัทว่าจะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา โดย ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% หรือถือหุ้นใหญ่เกิน 51% ซึ่งยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ หรือจะถือหุ้นน้อยกว่า 49% จะเข้ากระบวนการร่วมทุนเอกชน (PPP) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ซึ่งการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวจะเรียกเป็นบริษัทลูก 100% หรือบริษัทร่วมทุนเอกชน หรือเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ก็ได้ ซึ่งยังมีเวลาพิจารณาเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ส่วนตอนนี้ต้องการให้มุ่งเรื่องการก่อสร้าง ซึ่งจะต้องเจรจากับจีนเพื่อเริ่มต้นก่อสร้างให้ได้ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ก่อน” นายอาคมกล่าว
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า อยู่ระหว่างเร่งรัดให้ที่ปรึกษาสรุปรูปแบบในการจัดตั้งบริษัทลูก คาดว่าจะมี 2-3 ทางเลือก ซึ่งในช่วงแรกการจัดตั้งบริษัทลูกด้านการก่อสร้างอาจจะไม่ทันกับการเริ่มต้นก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรงเทพฯ-โคราช ร.ฟ.ท.จะรับหน้าที่ดูแลการก่อสร้างไปก่อน และถ่ายโอนภายหลัง ส่วนรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูงสาย กรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 155,774 ล้านบาท รูปแบบการบริหารจะคล้ายกัน โดยรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทางจะมีบริษัทเดินรถแยกจากกันเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้เห็นชอบโครงการแล้ว และจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้เพื่อเสนอตาม PPP ต่อไป