xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ลุยเปิดกรุที่ดิน 3 แปลงใหญ่พัฒนา เชิญชวนเอกชนลงทุนปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.เตรียมชงบอร์ดปลาย พ.ค.นี้ ขออนุมัติแผนพัฒนาที่ดิน กม.11 และสถานีแม่น้ำเพื่อเสนอคมนาคมและเข้าสู่ขั้นตอน PPP หลังจากที่เสนอแผนพัฒนาสถานีบางซื่อไปก่อนแล้ว คาดทยอยเปิด TOR เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาทั้ง 3 แปลงได้ในปี 60 มูลค่ารวมเกือบแสนล้าน

นายปานฑพ มาลากุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงแผนพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ของรถไฟว่า ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้เห็นชอบแผนการพัฒนาที่ดินรอบสถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ มูลค่าลงทุนประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาทแล้ว และได้เสนอเรื่องเพื่อดำเนินการศึกษารายละเอียดตามข้อกำหนดของการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อเสนอเข้าสู่กระบวนการ PPP ต่อไป โดยการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจและที่อยู่อาศัยแห่งใหม่รองรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน)

ส่วนอีก 2 แปลงใหญ่ที่มีศักยภาพคือ บริเวณ กม.11 ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอาคารศูนย์พลังงานแห่งชาติ (เอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์) เนื้อที่ 359 ไร่ มูลค่าที่ดิน 1.83 หมื่นล้านบาท และบริเวณสถานีแม่น้ำย่านคลองเตย เนื้อที่ประมาณ 260 ไร่ มูลค่าที่ดินราว 1.04 หมื่นล้านบาท จะสรุปผลการศึกษาและนำเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.ขออนุมัติได้ในการประชุมปลายเดือน พ.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเข้าสู่กระบวนการ PPP เช่นกัน

ทั้งนี้ ตามแผนงานการพัฒนาที่ดินรถไฟคาดว่าจะผ่านการพิจารณาตามขั้นตอน PPP และทยอยเปิด TOR เชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุน และเปิดประกวดราคาได้ในช่วงปี 2560 ทั้ง 3 แปลง เปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ระยะยาว 30 ปี โดยในช่วง 4 ปีแรกจะเป็นช่วงการก่อสร้าง

นายปานฑพกล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่ของรถไฟโดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนนั้นจะเห็นภาพที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจะเริ่มทยอยเปิด TOR เชิญชวนเอกชน ซึ่งเป็นความพยายามมาตลอดหลายปีในการพัฒนาที่ดินรถไฟให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากที่สุด โดยคาดว่าในปี 2561 จะได้ตัวเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาและเม็ดเงินจะทยอยเข้าสู่ ร.ฟ.ท. ซึ่งจะได้ผลตอบแทนในช่วงแรกน้อยและเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป หรือจะเริ่มมีรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ชัดเจนเมื่อเริ่มพัฒนาไปแล้ว 4-5 ปี

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ามูลค่าที่ดิน 3 แปลงใหญ่ที่จะพัฒนามีเกือบแสนล้านบาท ในขณะที่ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีหนี้สินประมาณ 113,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ของแอร์พอร์ตลิงก์ประมาณ 33,000 ล้านบาท ซึ่งหากเจรจาแยกบัญชีกันได้ ร.ฟ.ท.จะเหลือหนี้ประมาณ 80,000 ล้านบาท และหากพัฒนาที่มักกะสันเพื่อชำระหนี้กับคลังกว่า 60,000 ล้านบาท จะเหลือหนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท

สำหรับที่ดินของ ร.ฟ.ท.ทั่วประเทศ มีจำนวน 234,976 ไร่ เป็นที่ดินใช้เพื่อการเดินรถ 198,674 ไร่ (84%) ประกอบด้วย พื้นที่เขตทาง 189,586 ไร่ ย่านสถานี 5,333 ไร่ และบ้านพัก 3,755 ไร่ เป็นที่ดินไม่ใช้เพื่อการเดินรถ 36,302 ไร่ (15.4%) ประกอบด้วย ที่ดินจัดประโยชน์ได้ 34,487 ไร่ ย่านพหลโยธิน 1,070 ไร่ และบ้านพัก 745 ไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น