ครม.ปลดล็อก โยกงานเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อ รวมกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายตาม รฟม.เสนอ หลังเจรจากับ BEM จ้างเดินรถถึงปี 72 ไม่สำเร็จ และกลายเป็นปัญหาให้พิจารณางานเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายไม่ได้ เผย กก.PPP เตรียมประชุมสัปดาห์หน้า เดินหน้าตั้ง กก.มาตรา 35 คาดเป็นไปได้สูงเลือกเจรจา BEM เพื่อเร่งเปิดเดินรถเตาปูน-บางซื่อก่อน แก้ปัญหารอยต่อ ขณะที่เปิดประมูลใหม่เสี่ยงครหาแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 พ.ค. ว่าที่ประชุมได้รับทราบผลการเจรจาต่อรองการเดินรถ ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กม.ระหว่างคณะกรรมการ มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่มีนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯ รฟม. (ปฏิบัติการ) เป็นประธาน กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเอกชนยืนยันรับจ้างเดินรถแค่ 2 ปี ซึ่งไม่เป็นไปตามมติครม.ที่ให้เดินรถถึงปี 2572 โดย ครม.ได้มีมติยกเลิกมติ ครม.ปี 2553 ที่อนุมัติให้การเดินรถ ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 และให้การเดินรถ 1 สถานีเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 5 ,ยกเลิกมติ ครม.ปี2557 ที่ให้เจรจาตรงกับ BEM รับจ้างเดินรถถึงปี 2572 และยกเลิกมติครม.ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2559 โดย ครม.เห็นด้วยตามที่คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เสนอให้นำการเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อ รวมกับการเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย
พร้อมกันนี้ ครม.ได้มีมติให้ยุติการคัดเลือกเอกชนงานเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อโดยใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 และใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ตามสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย
ทั้งนี้ เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน จะเปิดให้บริการในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งจะเกิดปัญหาการเดินทางจาก ช่วงเตาปูน-บางซื่อไม่เชื่อมต่อ เบื้องต้นจะมีการจัดรถ ขสมก.จำนวน 12 คันในชั่วโมงเร่งด่วน และใช้รถไฟของ ร.ฟ.ท.เชื่อมระหว่างสถานีบางซ่อน-บางซื่อ โดยจะให้ทุกหน่วยงานหารือให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด
นายอาคมกล่าวว่า ปัญหาช่วงเตาปูน-บางซื่อที่ไม่เชื่อมต่อนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะกำหนดเป็นเงื่อนไขในการคัดเลือกผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ว่าผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องเร่งรัดเปิดการเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อก่อนเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อเร็วที่สุด โดยภายในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการ นโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) จะพิจารณาการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่ง รฟม.ได้้เสนอเปลี่ยนรูปแบบการร่วมลงทุนจาก PPP Gross Cost (รัฐลงทุน 100% และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยจ้างเอกชนทำหน้าที่เดินรถ) เป็น PP Net Cost (รัฐเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานส่วนเอกชนรับสัมปทานเดินรถและเก็บค่าโดยสารโดยแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ) หลัง กก.PPP อนุมัติรูปแบบ จากนั้นจึงจะตั้งคณะ กก.มาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 เพื่อพิจารณาว่าจะคัดเลือกเอกชนด้วยวิธีการเปิดประกวดราคาใหม่หรือเจรจาตรงกับรายเดิม คือ BEM
“มติครม.ปลดล็อกเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่จะเลือกประมูลหรือเจรจาอำนาจตามกฎหมาย อยู่ที่ กก.มาตรา 35 ซึ่งมีอิสระในการพิจารณา โดยมีเงื่อนไขกรณีที่ต้องเร่งรัดการเปิดเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด” นายอาคมกล่าว
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า หลังจากคณะ กก.PPP เห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ จากนั้นจึงจะตั้งคณะ กก.มาตรา 35 พิจารณาเลือกวิธีการคัดเลือกเอกชน และเสนอผลไปที่ กก.PPP อีกครั้ง
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า หลังจากนี้สามารถเลือกวิธีประมูลใหม่หรือเจรจาตรงกับ BEM ก็ได้ ขึ้นกับ กก.มาตรา 35 ซึ่งหากเลือกเจรจาตรงกับ BEM ต้องชี้แจงอธิบายเหตุผล แต่หากเลือกประมูลใหม่ มีประเด็นที่ต้องระมัดระวังคือ เงื่อนไขการให้เปิดเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อก่อน เพราะ BEM จะได้เปรียบเอกชนรายอื่นและอาจจะถูกครหาหรือร้องเรียนได้ว่าเป็นการประมูลแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม