xs
xsm
sm
md
lg

จ้าง BEM เดินรถ 1 สถานี! บีบรัฐอาจต้องเลือกเจรจาตรงเดินรถสีน้ำเงินต่อขยาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เผยจ้าง BEM เดินรถ 1 สถานีต้องสอดคล้องเปิดสีน้ำเงินส่วนต่อขยายปี 62 ล่าสุด รฟม.เสนอจ้างเป็น 2 ปี ขณะที่ส่วนต่อขยายต้องรวมงาน 1 สถานีไปด้วย จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ กก.มาตรา 35 ในการตัดสินใจเลือกเจรจาตรงหรือประมูล เผยการเจรจา BEM จะสะดวกในการเชื่อมต่อมากที่สุด ส่วนประมูลหากได้รายใหม่จะติดปัญหาอาณัติสัญญาณคนละระบบที่จะกระทบบริการได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาผลการเจรจาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา 5 (งานเดินรถ 1 สถานี) ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กม. ของคณะกรรมการ มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งได้เสนอขยายเวลาจ้าง BEM จาก 1 ปี เป็น 2 ปี หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ไม่เห็นด้วยกับการจ้าง 1 ปี โดยต้องการให้การว่าจ้าง 1 สถานีสอดคล้องกับเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่จะเปิดให้บริการประมาณปี 2562 ด้วย ซึ่งหากไม่มีความเห็นเพิ่มหรือท้วงติงจะเตรียมเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ มติ ครม.เดิมให้เจรจากับ BEM ให้สอดคล้องกับการเดินรถสายเฉลิมรัชมงคลที่สัญญาจะครบในปี 2572 แต่ทาง BEM ไม่ยอม ซึ่งเดินรถ 1 สถานีถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสายสีน้ำเงินต่อขยาย เพียงแต่มีการนำการก่อสร้างไปรวมกับสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ทาง BEM ยืนยันไม่สามารถรับจ้างเดินรถ 1 สถานีได้ถึงปี 2572 ซึ่งการเจรจาคำนึงถึงรอยต่อกับสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่จะเปิดเดินรถในปี 2562 จึงขยายเวลาจ้างเดินรถเป็น 2 ปี โดยทราบว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ส่งเรื่องมาที่กระทรวงแล้ว หาก ครม.เห็นชอบจะทำการลงนามสัญญา และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสารระบบตั๋วโดยสารที่สถานีเตาปูน วงเงินลงทุน 693 ล้านบาท ระยะเวลา 15 เดือน บริหารการเดินรถ 24 เดือน หรือ 2 ปี วงเงินค่าจ้างปีละ 52 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าในช่วง 2 ปีการพิจารณาผู้เดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะชัดเจน

สำหรับการเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น ผู้เดินรถจะต้องรับงานระบบและการเดินรถ 1 สถานีไปด้วย ซึ่งหากใช้การเจรจาตรงกับ BEM จะทำให้ผู้เดินรถทั้งสายเฉลิมรัชมงคล และช่วง 1 สถานี และส่วนต่อขยายเป็นรายเดียวกัน จะมีความสะดวกสำหรับการเดินรถต่อเนื่อง แต่หากเปิดประมูลและได้ผู้เดินรถรายใหม่ ทาง BEM พร้อมโอนระบบให้และรับค่าลงทุนคืน ขณะที่ระบบอาณัติสัญญาณของส่วนต่อขยายจะเป็นอีกระบบ ซึ่งการเชื่อมต่อกับ 1 สถานีจะต้องมีค่าใช้จ่ายและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดพลาดของการสื่อสารที่เป็นคนละระบบ และหากเกิดปัญหาจะกระทบการบริการอย่างมาก ซึ่ง รฟม.จะแจ้งข้อมูลทางเทคนิคทั้งหมดให้คณะ กก.มาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ทราบ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกผู้เดินรถส่วนต่อขยายต่อไป

ด้าน พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. กล่าวว่า ขณะนี้กังวลเรื่องเดินรถส่วนน้ำเงินต่อขยายเพราะงานโยธาคืบหน้าไป 70% แล้ว คาดว่าจะเสร็จปลายปี 61 แล้วด้ผู้เดินรถเลย จะไม่เสียค่าบำรุงรักษา (Care of Work) ซึ่งมีบทเรียนจากสายสีม่วงที่สร้างเสร็จแล้วไม่มีรถวิ่งทันที ประชาชนเสียโอกาส ดังนั้นจึงอยากให้หาข้อยุติผู้เดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและเซ็นสัญญาภายในปีนี้ เพราะหลังจากนั้นต้องใช้เวลาอีก 36 เดือนกว่าจะเดินรถได้ หากปีนี้ไม่จบต้องมีค่าเสียเวลาแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น