รฟม.เสนอของบประมาณอุดหนุนรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง 11 ปีแรก หลังคำนวณพบแบกขาดทุนก่อนจะมีกำไรในปี 12 ส่วนเดินรถ 1 สถานี BEM ยันขยายเวลาจ้างแค่ 2 ปี เตรียมแผนสำรองรวมสัญญากับสีน้ำเงิน
นายพีรยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด รฟม. ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน วานนี้ (15 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการตามที่ รฟม.เสนอ เรื่องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กม. ซึ่งจะเปิดให้บริการเดือน ส.ค.นี้ เนื่องจากการประเมินผลประกอบการพบว่า รฟม.จะมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย หรือขาดทุนในช่วง 11 ปีแรก และจะเริ่มมีกำไรตั้งแต่ปีที่ 12 สามารถบริหารจัดการได้เอง โดยบอร์ดให้ รฟม.เร่งหารือรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป
โดยก่อนหน้านี้บอร์ด รฟม.ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน จำนวน 16 สถานี โดยบุคคลทั่วไปเริ่มต้น 14 บาท สูงสุด 42 บาท (ค่าแรกเข้า 14 บาท และเก็บตามระยะทาง กม.ละ 2 บาท) และได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง รฟม.ได้ทำสัญญากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง ในรูปแบบ PPP-Gross Cost หรือจ้างบริหารเดินรถ พร้อมทั้งยกเว้นค่าแรกเข้าของสายเฉลิมรัชมงคล ที่ 16 บาทกรณีผู้โดยสารใช้สีม่วงเชื่อมต่อไป โดย รฟม.จะรับภาระจ่ายให้ BEM แทนประชาชน
*** เสนอรวมสัญญาจ้าง BEM เดินรถ 1 สถานีกับสายสีน้ำเงิน
นอกจากนี้บอร์ดยังรับทราบการเดินรถสายสีม่วง 1 สถานี ช่วงบางซื่อ-เตาปูน ซึ่งคณะกรรมการตามมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 ได้เจรจากับ BEM หลังจาก ครม. เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 59 ไม่เห็นชอบข้อเสนอว่าจ้าง BEM ระยะเวลา 1 ปี โดย ครม.ให้อิงการจ้างเท่ากับระยะเวลาสัมปทานเดินรถรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งจะครบสัญญาปี 72 โดย กก.มาตรา 13 ได้สรุปผลการเจรจาว่า ทาง BEM ยืนยันไม่สามารถเดินรถได้ถึงปี 72 เนื่องจากการเดินรถยาวจะกระทบต่อแผนการเดินรถตามมาตรฐานในเส้นทางหลัก แต่ BEM ยอมขยายเวลาจ้างจาก 1 ปี เป็น 2 ปี โดยคิดค่าจ้างปีแรก 52 ล้านบาท ปีที่ 2 ปรับเพิ่มตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
อย่างไรก็ตาม บอร์ดได้ให้ รฟม.หาแนวทางอื่นสำรองไว้กรณี ครม.ไม่เห็นด้วยกับผลเจรจานี้ เช่น เสนอทบทวนรวมสัญญาเดินรถ 1 สถานี เข้ากับสัญญาเดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเส้นทางหลักเพื่อให้การเดินรถต่อเนื่อง ซึ่งตามกฎหมายสามารถแก้ไขได้ โดย รฟม.จะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป