xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เตรียมพัฒนาพื้นที่สถานีสีม่วง เร่งสรุปประมูล/จ้าง BEM บริหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.เตรียมพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บนสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง เร่งพิจารณาความเหมาะสมระหว่างเปิดประมูล หรือจ้างตรง BEM เพื่อบริหารพื้นที่เบ็ดเสร็จ หวั่นปัญหาพื้นที่คาบเกี่ยวกรณีมีอีกบริษัทดูแลพื้นที่ ซึ่งอาจจะกระทบการให้บริการและความปลอดภัยได้ ด้าน “ประธานบอร์ด” แนะเปิดประมูล

พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทาง รฟม.เตรียมดำเนินการเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) แล้ว โดยจะต้องกำหนดพื้นที่ในแต่ละสถานีที่จะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้า และโฆษณาต่างๆ ให้ชัดเจน และดำเนินการเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้นถือว่าเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ รฟม.นอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสาร และถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารเพิ่มเติมแต่ไม่เร่งด่วนมาก ซึ่งเรื่องหลักคือ การให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น รฟม.ประมูลว่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้รับงานบริหารการเดินรถ ซึ่งไม่รวมสิทธิ์ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่ในสถานี ซึ่งแตกต่างจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคล ที่ BEM ผู้รับงานเดินรถ จะได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ในสถานีด้วย ดังนั้น ในการกำหนด TOR การบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสายสีม่วงจะต้องมีความชัดเจน และ BEM มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้นจะต้องพิจารณารายละเอียดเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน เนื่องจากพื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้านั้นจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริการผู้โดยสาร ดังนั้น หากมีพื้นที่เชิงพาณิชย์จะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการให้บริการ และความปลอดภัยของผู้โดยสาร

“สายสีม่วงนั้น รฟม.จะบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์เอง โดยขณะนี้จะต้องพิจารณาว่าจะเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนิน หรือจ้างทาง BEM ดำเนินการในส่วนนี้เพื่อให้เป็นการบริหารพื้นที่สถานีแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะมีความสะดวกมากกว่าการมีอีกบริษัทเข้าไปบริหารจัดการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงสายสีม่วงนั้นจะแยกเป็นอีกสัญญา ซึ่งจะมีรูปแบบการพัฒนาที่แตกต่างจากตัวสถานี และลูกค้าเป็นคนละกลุ่มกัน” นายพีระยุทธกล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าใช้เงินลงทุนสูง ซึ่ง รฟม.ต้องพยายามหารายได้เพิ่มเพื่อพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ในการดำเนินการบางกรณีนั้นยังมีข้อจำกัดทางกฎหมาย โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ หรือแม้แต่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้วยกัน ซึ่งหากสามารถปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะเป็นโอกาสให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ รฟม.ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น