ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ยันชะลอแผนโอนที่มักกะสันให้คลัง เพื่อหักหนี้กว่า 6 หมื่นล้าน ไม่กระทบการย้ายโรงซ่อมมักกะสัน ระบุเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า เตรียมชงบอร์ด เห็นชอบจ้างที่ปรึกษางบกว่า 200 ล้าน ปรับปรุงศูนย์ซ่อมภูมิภาค 3 แห่ง “โคราช-อุตรดิตถ์-ทุ่งสง” และพัฒนาศูนย์ซ่อมใหญ่ “เขาชีจรรย์”
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการชะลอแผนการนำที่ดินมักกะสันแลกหนี้กับกระทรวงการคลัง มูลค่าประมาณ 61,846 ล้านบาทนั้น เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกฎหมายการเวนคืนที่ดินว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างนั้น เป็นประเด็นทางข้อกฎหมายการได้มาของที่ดิน เข้าใจว่าหากมีความชัดเจนทางข้อกฎหมายซึ่งจะมีการพิจารณาเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ต่อไป โดยที่ดินรถไฟได้มาทั้งจากการพระราชทาน, เวนคืน, ยกให้และซื้อ ขณะที่ที่ดินมักกะสันได้จากพระราชทานและเวนคืนเพิ่ม วัตถุประสงค์ให้ทำเป็นศูนย์ซ่อม ที่พัก และที่ทำการ
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวจะไม่กระทบต่อแผนการย้ายโรงงานมักกะสัน ส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารซึ่งเป็นธุรกิจหลัก (Core Business) นั้นจะสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าได้อย่างไร เพราะปัจจุบันส่วนแบ่งของขนส่งทางรถไฟยังน้อยมาก โดยการย้ายและขยายโรงซ่อมในภูมิภาคจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถของศูนย์ซ่อมหัวรถจักร รถดีเซล เป็นต้น โดยจะใช้งบของ ร.ฟ.ท.ในการย้ายและพัฒนาโรงซ่อมเอง
“สิ่งที่รถไฟต้องทำตอนนี้ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพ การบริหารจัดการต่างๆ เพื่อหารายได้เพิ่ม ส่วนการส่งมอบพื้นที่บริเวณโรงงานมักกะสันจำนวน 497.11 ไร่ ให้คลังที่จะได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินในระยะยาวจำนวน 99 ปี เพื่อชำระหนี้นั้น ต้องแยกว่าที่บอกว่ารถไฟมีหนี้ 1.2 แสนล้านบาทเป็นหนี้ที่มาจากการดำเนินงานเท่าไหร่ และหนี้ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่หนี้ทั้งหมดเกิดจากรถไฟ การหักหนี้ออกไปจะมีผลต่อตัวเลขทางบัญชี และเป็นธรรมต่อการรถไฟมากขึ้น” นายวุฒิชาติกล่าว
ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ ศิวะสาโรช รองผู้ว่าฯ กลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ร.ฟ.ท กล่าวว่า ตามแผนเดิมจะเร่งย้ายโรงงานมักกะสันเพื่อส่งมอบที่ให้คลังภายใน 2 ปี จากเดิมที่ ร.ฟ.ท.ทำแผนย้ายออกใน 5 ปี ขณะนี้ได้มีการทำ Short List เพื่อเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และศึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail Design) ในการย้ายโรงงานและโรงซ่อมบำรุงมักกะสัน วงเงินกว่า 200 ล้านบาท โดยอยู่ในกระบวนการทำร่างทีโออาร์เพื่อนำเสนอผู้ว่าฯและคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.อนุมัติ ซึ่งการที่ชะลอโอนที่มักกะสันทำให้ไม่ต้องเร่งรีบการย้ายมากนักและมีเวลาศึกษารายละเอียดรอบคอบมากขึ้น
โดยแผนงานย้ายมักกะสันแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ปรับปรุงและขยายศูนย์ซ่อมภูมิภาค 3 แห่งที่มี คือ โคราช, อุตรดิตถ์ และทุ่งสง เป้าหมายเพื่อรองรับการซ่อมหนักรถโดยสาร และที่ศูนย์ซ่อมโคราชจะมีการสร้างโรงซ่อมสำหรับรถดีเซลรางเพิ่มด้วย ทำให้กระจายงานซ่อมหนักรถโดยสารและรถดีเซลรางออกจากมักกะสันได้ คาดว่าจะใช้งบดำเนินการประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท โดยจะเป็นส่วนที่ดำเนินการได้ก่อน
2. ก่อสร้างโรงซ่อมรถจักรที่แก่งคอย ที่มีการออกแบบรายละเอียดไว้แล้วซึ่งเป็นเดโป้รถจักรเหมือนบางซื่อ สามารถทำการซ่อมย่อย และซ่อมใหญ่ระดับกลาง (Medium Overhaul) พร้อมกันนี้จะสร้างศูนย์ซ่อมหนักรถจักรดีเซลเพิ่มอีก 1 โรงในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรับงานซ่อมหนักแทนมักกะกัน งบประมาณ 1,000 ล้านบาท
3. สร้างนิคมอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงรถไฟที่ชุมทางเขาชีจรรย์ พื้นที่ 500 ไร่ พร้อมกับย้ายโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟไปรวมอยู่ด้วย เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ยกระดับโรงเรียนเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรระบบรางอาเซียน โดยระยะ 3 นี้จะใช้เวลานาน เนื่องจากจะเป็นศูนย์รวมการซ่อมทั้งหมด