“ออมสิน” จัดหนัก มอบนโยบายตรง 11 ด้านให้บอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ เน้นพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ทำเลทองสร้างรายได้แก้ปัญหาหนี้สิน ควบคู่กับการพัฒนาเส้นทางและบริการผู้โดยสารและขนส่งสินค้า
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้แก่คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชุดใหม่ ที่มีนายพิชิต อัครทิตย์ เป็นประธานว่า ให้เน้นในเรื่องการพัฒนาการดำเนินกิจการเพื่อเพิ่มรายได้ และการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เช่น เร่งรัดให้มีการนำที่ดินแปลงต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ร.ฟ.ท.มาพัฒนาให้เกิดรายได้ เช่น ที่ดินบริเวณสถานีบางซื่อ, กม. 11 กว่า 300 ไร่, สถานีแม่น้ำ, มักกะสัน รวมถึงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ ที่มีศักยภาพมาพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีภาระหนี้กว่า 110,000 ล้านบาท หากสามารถพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์จะช่วยแก้ไขปัญหาภาระการเงินของ ร.ฟ.ท.ได้
นอกจากนี้ ต้องเร่งพัฒนารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เร่งรัดการจัดหาขบวนรถโดยสารแอร์พอร์ตลิงก์ใหม่อีก 7 ขบวน ควบคู่กับการซ่อมบำรุงใหญ่ขบวนรถไฟฟ้าเดิม 9 ขบวนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และการสรรหาเอกชนมาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายไปพญาไท-บางซื่อ-ท่าอากาศยานดอนเมือง เร่งรัดการดำเนินการออก TOR ประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ภายในปี 2559 อีก 5 เส้นทาง จากปัจจุบันที่ลงนามกับเอกชนไปแล้ว 2 เส้นทาง เร่งรัดการทำสัญญาบริหารจัดโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง หรือ ICD เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้า การเชื่อมต่อทางรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
นายออมสินกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายสำคัญ 11 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านบุคลากร ขอให้สนับสนุนนโยบายในการคัดเลือกและคัดสรรพนักงานเข้ามาทดแทนในอัตรากำลังที่ขาด รวมถึงทดแทนเจ้าหน้าที่ที่จะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ ตำแหน่งรองผู้ว่าการที่จะมีการเกษียณอายุราชการภายในปีนี้หลายคน
2. ด้านการบริหารบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในอนาคตจะมีการแยกแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการช่วยเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์จากในปัจจุบัน เริ่มต้นจากสถานีสุวรรณภูมิ-พญาไท ซึ่งกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดทำแผนในส่วนต่อขยายไว้แล้ว โดยเชื่อมต่อจากช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-พญาไท ไปยังสถานีกลางบางซื่อและเชื่อมต่อสนามบินดอนเมือง ตลอดจนถึงสนามบินอู่ตะเภาในอนาคต เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้ทั้ง 3 สนามบินตามนโยบายของรัฐบาล
3. การจัดหาขบวนรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ใหม่ 7 ขบวน โดยต้องการให้คณะกรรมการรถไฟฯ ชุดใหม่เข้ามากำหนดขอบเขตทีโออาร์จัดหาขบวนรถแอร์พอร์ตลิงก์ใหม่โดยเร็วหลังจากฉบับเดิมมีการยกเลิกไป พร้อมกับส่งทีโออาร์ให้คณะกรรมการแอร์พอร์ตลิงก์พิจารณา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ และโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง
4. การจัดทำการซ่อมแซมใหญ่ (over haul) ในขบวนรถแอร์พอร์ตลิงก์ ควรต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกันเพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการ เพราะขณะนี้จำนวนรถโดยสารที่ให้บริการเหลือเพียง 8 ขบวน จากทั้งหมด 9 ขบวน สวนทางกับความต้องการใช้บริการของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5. ด้านการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ในพื้นที่แปลงสำคัญ ทั้งในบริเวณย่านสถานีบางซื่อ สถานีแม่น้ำ มักกะสัน รวมทั้งพื้นที่ในต่างจังหวัด ขอให้การรถไฟฯ ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดสัญญา และนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดเก็บข้อมูลการบริหารที่ดินให้เป็นระบบเพื่อให้สามารถตรวจสอบ และบริหารการต่อสัญญาได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถสร้างรายได้นำมาแก้ปัญหาหนี้สินและขาดทุนสะสมในอดีต
6. ขอให้คณะกรรมการการรถไฟฯ เร่งรัดเรื่องการลงทุน การเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ จากปัจจุบันที่ยังมีการเบิกจ่ายล่าช้าในหลายส่วน
7. ด้านการลงทุนโครงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ขอให้การรถไฟฯ เร่งรัดเรื่องการลงทุนการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง หลังจากอนุมัติและมีการก่อสร้างไปแล้ว 2 เส้นทาง โดยเฉพาะการจัดทำรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างทีโออาร์เส้นทางสำคัญ เช่น รถไฟทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ซึ่งทีโออาร์เส้นนี้จะเป็นต้นแบบให้กับการจัดทำทีโออาร์ของรถไฟทางคู่ที่เหลือ
8. การจัดหาหัวรถจักรใหม่ เช่น การจัดซื้อหรือเช่าเพิ่มเติมอีก 50 หัว เพื่อนำวิ่งเพิ่มการให้บริการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กรในการให้บริการที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
9. การเร่งผลักดันการบริหารจัดการพื้นที่ย่านกระจายสินค้าทางรถไฟ โดยเฉพาะบริเวณสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง หรือไอซีดี ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องเร่งรัดหาผู้ประกอบการมาดำเนินการเช่าหรือประกอบการขนส่งสินค้าหลังจากผู้ประกอบการเดิมได้หมดสัญญามาหลายปีแล้ว เพื่อต้องการเพิ่มการขนส่งสินค้ามากขึ้นตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการขนส่งด้วยรถไฟมีต้นทุนที่ต่ำ และยังสอดคล้องกับการที่การรถไฟฯ นำหัวรถจักร และแคร่รถโดยสารสินค้าใหม่เข้ามาให้บริการด้วย
10. การพัฒนาการบริการแก่ผู้โดยสาร ให้เน้นในเรื่องของความสะอาด ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นการเดินรถที่ตรงต่อเวลา การอำนวยความสะดวกในการจองตั๋ว ห้องน้ำที่สะอาด ความปลอดภัยการเดินทาง เป็นต้น
11. ด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ขอให้เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปเจรจากับทางการจีน ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงความร่วมมือด้านระบบรางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ จะต้องผลักดันให้เห็นผลรวดเร็วเพราะถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล