ครม.ตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ ดึงเอกชน “พิชิต อัคราทิตย์” นั่งประธาน ด้าน “ออมสิน” เตรียมให้นโยบายบอร์ด 25 ส.ค.ก่อนประชุมนัดแรก เร่งเครื่องประมูลรถไฟทางคู่ อีก 5 เส้นทางในปีนี้ ส่วนรถไฟความเร็วสูงและพัฒนาพื้นที่ต้องลงลึกแก้ปัญหาที่ติดขัดเพื่อเร่งรัดเช่นกัน
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 ส.ค. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชุดใหม่ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จำนวน 7 คน เนื่องจากกรรมการชุดเดิมดำรงตำแหน่งครบวาระ 3 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2559 โดยบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่มีนายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด เป็นประธาน แทนบอร์ดชุดเก่าที่มีนายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายคณิศ แสงสุพรรณ, นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.), รองศาสตราจารย์ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์ จากนิด้า, นางอัญชลี เต็งประทีป, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติ
โดยบอร์ด ร.ฟ.ท.จะประชุมนัดแรกวันที่ 25 ส.ค. ซึ่งนายออมสินระบุว่าจะเดินทางไปมอบนโยบายด้วยตัวเองก่อนที่จะบอร์ดจะประชุมเวลา 09.00 น.
“จะไปบอกบอร์ดชุดใหม่ว่ารถไฟมีงานอะไรที่ทำไปแล้วบ้าง งานอะไรที่ต้องทำ งานที่ค้างมีอะไร และกระทรวงคมนาคมต้องการเร่งรัดทุกงาน เช่น รถไฟความเร็วสูง, รถไฟทางคู่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับทีโออาร์ การเช่าหัวรถจักร 50 คัน และงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเน้นเรื่องสถานีกลางบางซื่อที่แบ่งเป็น 4 แปลง มีแนวทางการพัฒนาอย่างไร โดยต้องการให้บอร์ดช่วยรัดงาน ส่วนที่ดินมักกะสัน มีข้อติดขัดอย่างไร ส่วนสถานีแม่น้ำมีผลการศึกษาแล้ว บอร์ดต้องลงไปดูด้วย อยากให้บอร์ดใหม่ช่วยกระตุ้น อะไรที่หมดสัญญาให้ต่อโดยเร็ว หรือต้องปรับปรุงสัญญาก็ให้ทำ” นายออมสินกล่าว
ส่วนรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทางที่เหลือจะเร่งประกวดราคาในปีนี้ ตอนนี้ติดเรื่องทีโออาร์ที่มีการปรับแก้เรื่องการกำหนดคุณสมบัติเพื่อให้เปิดกว้างให้มีผู้เสนอแข่งขันได้มากรายขึ้น หากผ่านก็สามารถประมูลได้ทุกเส้น แต่ทั้งนี้จะต้องดูเรื่องคุณภาพของผู้รับจ้างด้วย หากลดเสปกเกินไปจะกระทบหรือไม่ ก็เป็นห่วงตรงนี้ ซึ่งมีผู้ร่วมประมูลได้ประมาณ 15 ราย ถือว่าน่าพอใจแล้ว
โดยล่าสุดวันที่ 3 ส.ค. คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) ได้ให้ความเห็นชอบ โดยรถไฟทางคู่ทั้ง 3 สาย ประกอบด้วย 1. เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 20,306 ล้านบาท 2. เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 24,940.96 ล้านบาท และ 3. เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท
ส่วนช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินลงทุน 29,667.66 ล้านบาท ที่ผ่านบอร์ดสภาพัฒน์มาก่อนหน้าแล้ว คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในต้นเดือนกันยายน
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง, กรุงเทพ-หัวหิน เตรียมเสนอเข้าคณะกรรมการ PPP ตนจึงอยากเห็นบอร์ดใหม่จะได้ช่วยรถไฟแก้ปัญหาเพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น