“สมคิด” คาดเสนอ ครม.อนุมัติ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง ใน ต.ค.นี้ เริ่มเดินหน้า PPP หาเอกชนลงทุนพร้อมเร่งแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ 5 สถานีที่มีศักยภาพ ส่วนโครงการระบบขนส่ง รองรับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก จะเสนอนายกฯ 31 ต.ค.นี้ โชว์แผน “ไฮสปีด-ท่าเรือเฟอร์รี-อู่ตะเภา” ในไตรมาส 4/59 สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุุน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการใช้ที่ดินริมเขตทางและการใช้พื้นที่ริมชายทะเลตะวันออก ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เป็นการติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ แผนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economics Corridor Development (EEC) ซึ่งจะสรุปนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะเกี่ยวข้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม.วงเงิน 152,528 ล้านบาท, การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบน โดยฝั่งตะวันออกจะพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ด ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และการเดินเรือเฟอร์รี
สำหรับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้เพื่อขออนุมัติ และเดินหน้าตามขั้นตอนเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ต่อไป ส่วนสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือเฟอร์รี คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเวลาใกล้เคียงกัน โดยใช้งบประมาณของกองทัพเรือ ทั้งนี้เพื่อให้โครงการใน EEC เกิดขึ้นภายในไตรมาส 4/2559 เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนก่อน เพราะช่วงปลายปี 2559 ทางบีโอไอจะจัดประชุมใหญ่เรื่องการลงทุนของประเทศ
“การใช้ประโยชน์พื้นที่สองข้างทางนั้นเริ่มมีความชัดเจนแล้ว ส่วนกรอบของ EEC นั้นแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1. เหตุผลความจำเป็นในการเป็นพื้นที่ภาคตะวันออก 2. จะต้องเพิ่มเติมโครงสร้างพื้นฐานอะไรบ้าง 3. การจัดหาที่ดินเพื่อรองรับ 4. การพัฒนาเมืองและการท่องเที่ยวตลอดแนวเส้นทาง”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-ระยองจะเริ่มได้ก่อน โดยหลัง ครม.เห็นชอบในเดือน ต.ค.จะเข้าสู่ขั้นตอน PPP จัดทำ TOR ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (Public Hearing) เพื่อเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนก่อสร้าง ส่วนการพัฒนาใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าและจะเสนอ ครม.ไปพร้อมกันซึ่งมีสถานีที่ศักยภาพจะพัฒนา 5 แห่ง คือ ฉะเชิงเทรา, พัทยา, ชลบุรี, ศรีราชา, ระยอง ต้องทำการทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) ด้วย ขณะที่รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางจะมีสถานีที่มีศักยภาพรวม 18 สถานี นอกจากนี้ รองนายกฯ ให้เปรียบเทียบตัวเลขผลตอบแทนโครงการระหว่างมีการพัฒนาพื้นที่ด้วย กับกรณีไม่มีการพัฒนาพื้นที่
“วันที่ 31 ส.ค.นี้จะนำเสนอภาพรวม ของรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง การใช้ประโยชน์สองข้างทาง และโครงการในEEC ทั้ง รถไฟ, ถนน, ท่าเรือเฟอร์รี, ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา ส่วนรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 94,673.16 ล้านบาท อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องพัฒนาพื้นที่สองข้างทาง พร้อมกันนี้ให้ศึกษากรณีต่อเส้นทางออกไปจากหัวหิน-สุราษฎร์ธานีว่าจะทำให้มีผลตอบแทนสูงขึ้นแค่ไหน เนื่องจากภาคเอกชนเสนอเพื่อเพิ่มผลตอบแทนโครงการ เพราะสร้างแค่หัวหินสั้นเกินไป เพราะเส้นทางนี้ไม่เหมือนกรุงเทพ-ระยองที่มีแหล่งอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการลงทุนมากกว่า”
สำหรับการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รีนั้นจะมีส่วนของการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดของกองทัพเรือ และอีกส่วนคือการเดินเรือเฟอร์รีโดยสาร ขณะนี้กรมเจ้าท่า (จท.) ได้เปิดเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอเพื่อประกอบการเรือโดยสารเฟอร์รีได้แล้วเพราะมีท่าเรือรองรับแล้ว เช่น ศรีราชา, พัทยา และชะอำ