xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” สั่งเร่ง “ท่าเรือเฟอร์รี” เชื่อมอ่าวไทยสองฝั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ท่าเรือแหลมฉบัง
“คมนาคม” เร่งแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ทั้งอุตฯ การบิน, ระบบราง, ถนนและท่าเรือ เผย “นายกฯ” เร่งเรือเฟอร์รีเชื่อมอ่าวไทยฝั่งตะวันออก-ฝั่งตะวันตก สั่งคุยกองทัพเรือจัดสรรพื้นที่ท่าเรือสัตหีบ หรือแหลมฉบัง ผุดจุดสร้างท่าเรือเฟอร์รี ชง “สมคิด” ใน 3 เดือน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่จังหวัดระยองและตรวจเยี่ยมสนามบินอู่ตะเภานั้น ได้มีการมอบหมายกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายคมนาคมทางบก น้ำ ราง อากาศ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้คณะกรรมการที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณากรอบแผนงานให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะมีแผนด้านระบบราง, การพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน, โครงข่ายถนน, การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก (East-West Ferry)

ขณะที่ท่าเรือเฟอร์รีนั้นมี 2 พื้นที่ โดยฝั่งตะวันออก กองทัพเรือได้นำเสนอท่าเรือสัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) และมีท่าเรือแหลมฉบัง ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่สามารถพัฒนาเป็นท่าเรือพาณิชย์และเฟอร์รีข้ามฟากซึ่งจะมีการออกแบบการใช้พื้นที่เพื่อจัดสรรพื้นที่ต่อไป ส่วนฝั่งตะวันตกนั้นมีการศึกษาและมีข้อเสนอของภาคเอกชนซึ่งจะพิจารณาต่อไป โดยนายกฯ มอบให้กระทรวงคมนาคมและกองทัพเรือร่วมกันพิจารณาในการจัดสรรพื้นที่

“จะมีการทบทวนแผนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก อะไรที่ทำไปแล้ว อะไรยังขาด ซึ่งนายกฯ เน้นการแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่ เพื่อทำเป็นแผนรวมและเสนอของบประมาณดำเนินการต่อไป” นายอาคมกล่าว

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายกฯ เร่งโครงการเรือเฟอร์รีเชื่อมโยงชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออก (ท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือสัตหีบ) กับชายฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันตก ลักษณะการเดินเรือเป็นสามเหลี่ยม จากท่าเรือแหลมฉบัง-ปากน้ำ-หัวหิน ซึ่งจะย่นระยะเวลาในการเดินทางข้ามอ่าวไทยลงเหลือ 1.20 ชม. จากรถยนต์ที่ใช้เวลาเร็วที่สุด 4 ชม.หากรถไม่ติด โดยขณะนี้มีแผนแล้วกำลังศึกษา ดังนั้นจะเร่งหาข้อสรุป ซึ่งปัญหาคือการหาจุดก่อสร้างท่าเรือที่จะต้องเป็นท่าเรือขนาดใหญ่เพราะต้องรองรับเรือเฟอร์รีขนาดใหญ่ที่บรรทุกรถยนต์ใต้ท้องเรือได้ด้วย ดังนั้น การสร้างท่าเรือใหม่ อาจจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมโดยกรมเจ้าท่าได้ให้บริษัทที่ปรึกษาฯ ศึกษารายละเอียดโครงการ โดยที่ปรึกษาได้เสนอพื้นที่ทางเลือกเบื้องต้น ในส่วนพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออก ประกอบด้วย ทางเลือก E-1 ท่าเรือเกาะลอย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทางเลือก E-2 ท่าเรือแหลมฉบัง (A1) ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทางเลือก E-3 ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยา (ท่าเรือแหลมบาลีฮาย) อ.เมืองพัทยา และทางเลือก E-4 ท่าเรือจุกเสม็ด ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ส่วนพื้นที่ทางเลือกชายฝั่งด้านตะวันตก ประกอบด้วย ทางเลือก W-1 พื้นที่ปากร่องน้ำ บจก.ชลประทานซีเมนต์ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทางเลือก W-2 พื้นที่วัดไทรย้อย ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และทางเลือก W-3 ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน เขต ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น