ทุกวันนี้ โลกเผชิญวิกฤตธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำและอากาศ จนลุกลามเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวง และบ่อยขึ้น ในประเทศไทยก็ประสบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน
โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่เราได้รับรู้กันว่า “น้ำคือชีวิต” แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางพวกที่ขาดคุณธรรมเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวโดยการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมีผลไปทำลายแหล่งน้ำ
ตัวอย่างเช่น ชุมชนเขายายดา ตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เคยประสบกับภาวะที่ป่าหายสายน้ำแห้งมาก่อน เป็นภาวะเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก่อนที่ชุมชนจะตื่นตัว และหันกลับมาร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่าและสายน้ำ ภายใต้การสนับสนุนอย่างมีกลยุทธ์ของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ผ่านโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต”
จากป่าเสื่อมโทรมจนเป็นเขาหัวโล้น ชุมชนเขายายดาและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนาป่าต้นน้ำด้วยจิตสำนึกและเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะ “ฝายชะลอน้ำ” ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้กลายเป็นแหล่งต้นน้ำที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกสรรพชีวิต และพร้อมที่จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้แก่สาธารณชนในลักษณะแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อันเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำอย่างครอบคลุมทั้งระบบ และเข้ากันได้อย่างกลมกลืนไปกับวิถีชุมชน
การจัดงานเปิดตัว “สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” ขึ้น ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหินดาดเมื่อเร็วๆ นี้ ของชุมชนเขายายดา มีหน่วยงานและประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากมาย เช่น ชุมชนฝายลำปาง ชุมชนฝายกาญจนบุรี ชุมชนฝายสระบุรี ชมรมจรรยาบรรณ หอการค้าไทย ชุมชนมาบตาพุด กลุ่มแฟนเพจ “SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” สื่อมวลชน และพี่น้องชาวเอสซีจี เป็นต้น
“ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ชุมชนเขายายดาได้ร่วมโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต เห็นผลชัดเจนว่า ฝายชะลอน้ำช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับเขายายดาได้อย่างมาก ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ดูแลสวนผลไม้ซึ่งเป็นอาชีพหลักได้อย่างทั่วถึง ยังผลให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น นอกจากนี้ ชุมชนยังตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาพื้นที่ป่าและแหล่งน้ำของบ้านเกิด ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้และเกิดมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับเยาวชนและผู้ที่สนใจให้เข้ามาเรียนรู้ระบบนิเวศและวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ของชุมชนรอบเขายายดา อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน” อาสา สารสิน ประธานคณะกรรมการกิจการเพื่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน
ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ ผู้นำหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต พื้นที่เขายายดา กล่าวว่า “เอสซีจี เคมิคอลส์ เราให้ความสำคัญกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการที่ดี โครงการเอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต เป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยส่งเสริมชุมชนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และมีวิถีชีวิตบนความพอเพียง”
พื้นที่เขายายดานั้น ชุมชนได้ร่วมกับสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและเอสซีจี สร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานรอบเขายายดามาตั้งแต่ปี 2550โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมและดำเนินการเองอย่างยั่งยืน ส่งผลให้สภาพป่าเริ่มฟื้นตัว มีผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น จนปัจจุบันมีการสร้างฝายไปแล้วกว่า 5,400 ฝาย และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้แก่ชุมชนอื่นๆ จัดตั้งสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา แหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ขึ้นในวันนี้
จากสรุปผลการดำเนินงานโครงการ เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต ตั้งแต่ปี 2550 ถึงสิ้นปี 2558 จะเห็นบทบาทที่น่าสนใจ ดังนี้
- สร้างฝายชะลอน้ำรวม 68,445 ฝาย
- มีชุมชนเข้าร่วมโครงการ 80 ชุมชน ใน 12 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน เชียงราย กาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี ขอนแก่น ระยองและนครศรีธรรมราช
- ดูแลรักษาป่าชุมชนมีพื้นที่รวมกว่า 210,000 ไร่
นี่คือ ตัวอย่างที่ดีของเอกชนที่เอาจริงกับการสร้างเสริมพลังชุมชนในการฟื้นฟูและรักษาป่าและแหล่งน้ำธรรมชาติให้เป็นวิถี ยั่งยืน
ข้อคิด...
เขายายดามีพื้นที่ทั้งสิ้น 28,937 ไร่ ในอดีตถือเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์จนเปรียบได้กับซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน แต่หลังจากมีการสัมปทานป่าไม้ ผืนป่าแห่งนี้ก็ถูกบุกรุกเข้าแผ้วถางทำลายจนความอุดมสมบูรณ์เสื่อมถอยลง ป่าที่เคยเขียวขจีถูกหักโค่น สายน้ำก็เหือดแห้ง ชุมชนจึงเดือดร้อนไม่มีน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงเกษตรกรและชาวสวนที่ขาดแคลนน้ำถึงขั้นต้องซื้อน้ำจากนอกพื้นที่เพื่อมาใช้ทำการเกษตร
นี่คือ ที่มาของปัญหาอมตะในหลายจังหวัดแต่เป็นบทเรียนการพลิกฟื้นคืนชีวิตธรรมชาติมาได้ ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ที่ปรึกษาโครงการแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศเขายายดา บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เล่าว่า เอสซีจี เริ่มบทบาทจากการชักชวนชุมชน 10 หมู่บ้าน ใน 6 ตำบลของอำเภอตะพง มาร่วมแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ ด้วยการสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำและฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่ม รวมไปถึงการสร้างคนไปพร้อมๆ กัน ด้วยการหนุนเสริมให้คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี เกิดจิตสำนึก มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นการอนุรักษ์ และมีกระบวนการสร้างทักษะการคิดแก้ไขปัญหาในชุมชนบนฐานของการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยการสร้างมูลค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ในรูปของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน เช่น การเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ การสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ การจัดตั้งกองทุนชุมชน รวมไปถึงการสร้างกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าถึงเยาวชนให้มามีส่วนร่วม
“เราคิดบนฐานที่ว่า ชุมชนจะต้องอยู่ด้วยตัวเองได้ เราจึงทำหลายๆ เรื่องนอกจากเรื่องฝายและป่า เช่น ชวนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาช่วยสร้างนักวิจัยชุมชนให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงปัจจัยปัญหาเพื่อแก้ไขได้ มีกองทุน มีการส่งต่อให้เยาวชน เริ่มจากการให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ แล้วสนุกไปพร้อมๆ กับได้ความรู้ เราจึงพัฒนาเป็นหลักสูตร ผลักดันเข้าสู่โรงเรียน 2 ระดับ คือ ระดับประถมมีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนวัดยายดา กับระดับมัธยมคือโรงเรียนวัดตะพงนอก รวมไปถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีออกสู่สาธารณะ โดยการถอดบทเรียนจากการทำงานร่วมกับชุมชน เปิดเป็นสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
ในกระบวนการพัฒนานั้น ได้มีภาคีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกับชุมชนเขายายดาและเอสซีจี หนึ่งในนั้นคือ สถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่เป็นภาคีด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำตลอดมา
9 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่นี้มากมาย แต่ภาพที่ชัดเจนที่สุด คือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติหวนกลับคืนมาสู่ผืนป่าและสายน้ำ คุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นในทุกบ้าน ทั้งรอยยิ้มที่กลับมาเบ่งบานบนใบหน้าของทุกคนในชุมชน เป็นความสุขที่เกิดจากความรู้รักสามัคคีและการทำงานหนัก ด้วยจิตสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า
suwatmgr@gmail.com