xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐบาลคงนโยบายร่วมทุนเอกชน สกัดแผนฮุบรถไฟสีน้ำเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการกำหนดนโยบายของรัฐบาล เกี่ยวกับการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแนวทาง จากเดิมเอกชนร่วมทุนกับรัฐ และจ้างเอกชนมาบริหาร มาเป็นให้เอกชนลงทุนเอง บริหารเอง ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนในอนาคต ที่อาจต้องจ่ายค่าโดยสารแพงขึ้น โดยที่รัฐไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ส่อว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัทบีเอ็มซีแอล จากกรณีที่รัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหาช่วงต่อระหว่างสถานีบางซื่อกับเตาปูน ซึ่งเบื้องต้นจะต้องใช้รถบัสบริการ หรือต้องเดิน ซี่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงจะมีการเชื่อมต่อทั้งสองสถานีได้ ในระหว่างให้มีการเจรจากับบริษัทบีเอ็มซีแอล ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล หรือ หัวลำโพง-บางซื่อ ให้เดินรถในช่วงต่อขยายเตาปูน-บางซื่อ ซึ่งเท่ากับทำให้บริษัทดังกล่าวได้ประโยชน์ เพราะไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขัน ขัดกับนโยบายเดิมที่สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เคยให้ความเห็นชอบไว้ว่าในส่วนต่อขยาย ควรเปิดประมูลการเดินรถใหม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
นอกจากนี้ยังมีมติครม. ตุลาคมปี 58 ให้นำเอาส่วนต่อขยาย เตาปูน-บางซื่อไปรวมกับสายสีน้ำเงินต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยให้เอกชนลงทุนเอง จากนั้นคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ มีมติในวันที่ 11 พ.ค. 59 เห็นชอบให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เหมือนกับมีการตกลงกับใครล่วงหน้าหรือไม่ มีการเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใดหรือเปล่า และการให้เจรจากับบริษัทเดิม จะเข้าข่ายการล็อกสเปก ขัดกฎหมายฮั้วหรือไม่ เพราะเวลานี้มีการใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน อ้างว่าเพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน จำเป็นต้องเจรจากับรายเดิมให้เดินรถ
นายวิลาศ ยังตั้งข้อสังเกตว่า หากดำเนินการเช่นนี้ บริษัท บีเอ็มซีแอล ย่อมมีแนวโน้มที่อาจจะได้ประโยชน์จากการต่ออายุสัมปทานสาย หัวลำโพง-บางซื่อ ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2572 ไปด้วย เพราะเมื่อบริษัทดังกล่าวได้เดินรถส่วนต่อขยาย เตาปูน-บางซื่อ จะมีสัมปทานเป็นเวลา 30 ปี หมดอายุประมาณปี 2592 จึงมีโอกาสที่
จะทำให้การเจรจาเพื่อต่ออายุสัมปทานสาย หัวลำโพง-บางซื่อ จะไม่มีการเปิดประมูลแข่งขัน แต่เป็นการเจรจากับรายเดิม อีกทั้งยังอาจมีผลไปถึงสายหัวลำโพง-บางแค ให้บริษัทเดิมได้รับสัมปทานไปด้วยเนื่องจากเป็นโครงการที่เชื่อมโยงกัน
"หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้เกิดการผูกขาดการเดินรถสายสีน้ำเงินทั้งระบบ ไม่สอดคล้องกับนโยบายที่นายกฯ ต้องการจะปราบปรามการคอร์รัปชัน เพราะรัฐบาลกับเอกชนร่วมทุนจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า เนื่องจาก รฟม.จะมีสิทธิเป็นผู้บริหารจัดการ แต่เมื่อให้เอกชนบริหารเอง กำหนดราคาเอง จะกระทบประชาชนแน่นอน " นายวิลาศ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้ยังมีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของบริษัทบีเอ็มซีแอล ซึ่งที่ผ่านมามีผลขาดทุนสะสมอยู่หมื่นกว่าล้านบาท ได้ควบรวมบริษัทกับบีอีซีแอล คือ บริษัททางด่วนกรุงเทพ ซึ่งมี ช.การช่าง เป็นบริษัทแม่ มีกำไรกว่าหมื่นล้านบาท การควบรวมดังกล่าวจะทำให้บริษัทบีเอ็มซีแอล มีสถานะการเงินที่ดีขึ้น สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินโครงการอะไรหรือไม่ สอดรับกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นหรือเปล่า
"ขอฝากไปยังคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่จะประชุมเร็วๆนี้ ทบทวนเรื่องดังกล่าว เพราะทราบมาว่ามีการเสนอขออนุมัติให้ใช้วิธีการเจรจา หากไม่เล่นกลกันในวันที่ก่อสร้างสถานีเสร็จเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนควรให้มีการวิ่งทะลุไปถึงเตาปูน แทนที่จะสิ้นสุดแค่ที่สถานีบางซื่อ ก็จะไม่เสียเวลาเหมือนที่เป็นอยู่ และขอตั้งคำถามถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิษฐ์ รมว.คมนาคม ที่เคยเป็นเลขาสภาพัฒน์ฯมาก่อนด้วยว่า จะทักท้วงเรื่องนี้อย่างไร ผมทราบว่ามีที่ปรึกษาบริษัทหนึ่ง เที่ยวไปขอทีโออาร์เพื่อศึกษา ไม่รู้จะเอาไว้เจรจากับใครหรือไม่ และในระยะหลังแนวทางการบริหารของรัฐบาลจะออกลักษณะผูกขาดให้ไปเจรจากับคนนั้นคนนี้" นายวิลาศ กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้ว่าฯรฟม. ให้สัมภาษณ์ว่าจะจัดรถบัสและรถไฟบริการใช้งบประมาณปีละ 174 ล้านบาทนั้น นายวิลาศ กล่าวว่า แทนที่จะเอาเงินดังกล่าวไปจ้างรถบัส หรือรถไฟ นำมาทำระบบเดินรถไฟฟ้าช่วงระหว่างสองสถานีนี้ ซึ่งจะเป็นสมบัติของรฟม. แทนที่จะเป็นเสียเป็นค่าจ้างก็จะประหยัดเงินและได้ประโยชน์ทุกส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น