ประธานบอร์ด รฟม.เร่งเจรจาต่อรองค่าเคลมและขยายเวลากับผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 5 สัญญาให้อยู่ในกรอบค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดที่มีประมาณ 800 ล้านบาท และต่อสัญญาไม่เกิน 800 วัน “ยอดยุทธ” ยอมรับ รฟม.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ต้องชดเชยตามกติกา ยังมั่นใจเปิดเดินรถได้ปลายปี 61 หรืออย่างช้ากลางปี 62
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ได้รับทราบความคืบหน้าการพิจารณาขยายเวลาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ในส่วนของสัญญา 5 (งานระบบราง) ซึ่งมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง โดยการพิจารณาชดเชยทั้งระยะเวลาก่อสร้างและค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยคณะอนุกรรมการ ที่มีนายมณฑล สุดประเสริฐ บอร์ด รฟม. เป็นประธาน อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดและตรวจสอบแต่ละรายการที่ได้รับผลกระทบจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างไร และให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงมากที่สุด โดยจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายตามที่สัญญาระบุไว้ โดยระหว่างการเจรจาไม่ยุติอาจจะต้องขยายเวลาให้ผู้รับจ้างไปก่อน 180 วัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานและเบิกเงินค่างานได้
ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายในการพิจารณาตรวจสอบและต่อรองว่าจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายตามที่สัญญาระบุไว้ นอกจากนี้ การเจรจาในส่วนของค่าชดเชยเนื่องจากส่งมอบพื้นที่ล่าช่านั้นจะต้องอยู่ในกรอบวงเงินค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) ของโครงการที่มีประมาณ 700-800 ล้านบาท เพื่อไม่ต้องขอขยายกรอบวงเงินโครงการ ส่วนการขยายเวลาก่อสร้างนั้น แต่ละสัญญาจะไม่เท่ากัน บางสัญญาขยายอีก 200 วัน แต่สูงสุดจะไม่เกิน 800 วัน โดยทุกรายการที่ผู้รับจ้างขอเคลมนั้นจะต้องชี้แจงได้ การเจรจาต่อรองต้องมีจุดที่เหมาะสม ถูกต้อง
“การก่อสร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีปัญหามานานแล้วที่บริเวณสามแยกไฟฉายและสี่แยกท่าพระที่ติดการก่อสร้างอุโมงค์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากตอม่อของรถไฟฟ้าจะต้องรอการก่อสร้างอุโมงค์เสร็จก่อน แต่อุโมงค์ของ กทม.ล่าช้า ทำให้งานรถไฟฟ้าล่าช้าไปด้วย จึงกระทบต่อสัญญาก่อสร้างของผู้รับเหมาในแต่ละสัญญา ซึ่งตามมาตรฐานสากลเมื่อ รฟม.ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับเหมาล่าช้าจะต้องขยายสัญญา ระยะเวลาก่อสร้าง และชดเชยค่าดำเนินงานเพิ่มเติมให้ จึงตั้งคณะอนุกรรมการฯ ตรวจสอบขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะกรณีขอเคลมค่าใช้จ่าย ด้านบุคลากร, เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ นั้น บางทีผู้รับจ้างสามารถย้ายเครื่องมือ เครื่องจักร หรือคนทำงานไปทำในจุดอื่นก่อนได้ ที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหาและเร่งรัดไปหลายเรื่องแล้ว และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเดินรถได้ในปลายปี 2561 หรืออย่างช้ากลางปี 2562 ภายใต้เงื่อนไข จะต้องได้ตัวผู้เดินรถในปี 2559 เพราะจะใช้เวลาจัดหารถอีกประมาณ 3 ปี” พล.อ.ยอดยุทธกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) 27 กม. วงเงินลงทุนกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท มี 5 สัญญา โดยผู้รับจ้างขอขยายเวลาก่อสร้างและขอค่าชดเชยทั้งหมด ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาต่อรอง โดยสัญญา 5 (งานวางราง) ความยาว 70 กม. ของ บมจ.ช.การช่าง นั้น เริ่มงานหลังสุดเนื่องจากต้องรอการก่อสร้างทั้ง 4 สัญญาเสร็จถึงจะเริ่มวางรางได้ ซึ่งข้อเสนอผู้รับจ้างขอขยายเวลา 3 ปีจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 5 มิ.ย. 2559 และขอค่าชดเชย 500 ล้านบาท
ส่วนสัญญาที่ 1 (งานอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย) ระยะทาง 2.85 กม.ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ สัญญา 2 (งานอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงสนามไชย-ท่าพระ) ระยะทาง 2.58 กม.ของ บมจ.ช.การช่าง สัญญา 3 (ทางวิ่งยกระดับ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ) ระยะทาง 11.04 กม. ของกลุ่ม บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น สัญญา 4 (ทางวิ่งยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง) ระยะทาง 10.47 กม. ของ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น