xs
xsm
sm
md
lg

กก.PPP ไฟเขียวสัมปทานสายสีน้ำเงิน 30 ปี รฟม.ตั้ง กก.สรุปวิธีเลือกเอกชนใน 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กก.PPP ไฟเขียวเดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยาย รวมกับเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อ ร่วมทุนแบบ PPP Net Cost สัมปทานเดินรถ 30 ปี รฟม.เร่งตั้ง กก.35 ใน1-2 สัปดาห์ “ยอดยุทธ” ระบุหากเลือกเจรจารายเดิมจะเร่งเปิดเดินรถ 1 สถานี แก้ปัญหารอยต่อกับสายสีม่วงได้ไม่เกิน มี.ค. 60 แต่หากเสนอ กก.PPP แล้วไม่เห็นด้วยกับการเจรจา ต้องใช้วิธีเปิดประมูลอย่างเดียว

วันนี้ (11 พ.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ นโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้นำงานเดินรถ 1 สถานี ช่วง เตาปูน-บางซื่อ รวมกับการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค เป็นสัญญาเดียวกัน เพื่อให้เร่งสรรหาผู้เดินรถในช่วง 3 ปี ข้างหน้า โดยเห็นชอบในหลักการของการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ตามข้อเสนอของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่กำหนดให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) สำหรับการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในภาพรวม โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการฯ แบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้รับผลประโยชน์และความเสี่ยงจากค่าโดยสารในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการฯ เป็นระยะเวลา 30 ปี และภาครัฐไม่มีภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการสนับสนุนภาระทางการเงินและการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งนี้ ให้เอกชนดำเนินการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงเตาปูน-บางซื่อ ให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มเดินรถเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งวงเงินลงทุนรวมของโครงการทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 84,000 ล้านบาท

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ได้พิจารณาการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ให้เป็นการเดินรถต่อเนื่อง และเห็นชอบรูปแบบการร่วมลงทุนจาก PPP Net Cost (รัฐเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานส่วนเอกชนรับสัมปทานเดินรถและเก็บค่าโดยสารโดยแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ) และ ระยะเวลาสัมปทานเดินรถ 30 ปี ซึ่งหลังจากนี้ รฟม.จะตั้งคณะกรรมการ คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการตามมาตรา 35) พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งผู้ว่าฯ รฟม.สามารถเสนอบอร์ดเห็นชอบโดยทำหนังสือเวียนเพื่อเร่งรัดได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการมาตรา 35 จะพิจารณาวิธีการคัดเลือกเอกชน โดยจะต้องนำประเด็นการเดินรถต่อเนื่องด้วย ซึ่งหาก กก.มาตรา 35 เลือกวิธีการเปิดประมูล รฟม.จะดำเนินการตามวิธีมาตรฐานการประมูล โดยต้องกำหนดร่างเงื่อนไขการเชิญชวนเอกชน (TOR) ให้การเดินรถต่อเนื่อง ตามมติ กก.PPP แต่หากเลือกวิธีการเจรจากับ BEM ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถสายเฉลิมรัชมงคลอยู่แล้ว จะต้องเสนอ กก.PPP เห็นชอบก่อนจึงจะเริ่มการเจรจาได้ แต่หาก กก.PPP ไม่เห็นด้วยถือว่าจะต้องกลับไปใช้วิธีการประมูลอย่างเดียว

พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นรายเดิมหรือรายใหม่ มีความจำเป็นจะต้องเร่งรัดการเปิดเดินรถช่วง 1 สถานี จากเตาปูน-บางซื่อ ให้เร็วที่สุดเพื่อแก้ปัญหารอยต่อ ระหว่างสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงิน ซึ่งสายสีม่วงจะเปิดให้บริการในเดือน ส.ค. 2559 นี้แล้ว โดยหากเป็นการเจรจากับ BEM รายเดิม จะสามารถเร่งรัดให้ติดตั้งระบบช่วง 1 สถานีให้เสร็จภายใน 10 เดือน และสามารถเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลทะลุจากสถานีบางซื่อไปยังสถานีเตาปูนได้เร็วสุดเดือน ธ.ค. 2559 หรืออย่างช้าไม่เกินเดือน มี.ค. 2560 แต่หากเป็นเอกชนรายอื่นจะต้องใช้เวลาในการจัดหารถไฟฟ้าล่วงหน้าประมาณ 36 เดือน และหากสั่งรถจำนวนน้อย ไม่กี่ขบวน จะมีผู้ผลิตรถจะยอมผลิตให้หรือไม่

พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.วันที่ 11 พ.ค. ได้เร่งรัดการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 92,532 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปราคากลาง และภายในเดือน มิ.ย. 2559 จะเปิดขายซองประกวดราคาได้ จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ซองด้านคุณสมบัติและซองข้อเสนอด้านราคา โดยจะพิจารณาข้อเสนอทั้ง 2 ซองแล้วเสร็จใน 6 เดือน จากนั้นจะลงนามสัญญาได้ช่วง ม.ค.-ก.พ. 2560 ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 6 สัญญาก่อสร้าง คือ งานโยธาก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน 3 สัญญา, โครงสร้างยกระดับ 1 สัญญา, งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) 1 สัญญา และงานระบบราง 1 สัญญา

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรม PPP เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการตามมาตรา 35) ภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อกำหนดเงื่อนไขและวิธีการคัดเลือกการประมูล โดยคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข่น อัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ สคร.เป็นกรรมการ หลังจากนั้นต้องรอที่ประชุมหารือวิธีการคัดเลือก หากเลือกวิธีการเจรจากับรายเดิม คือ BEM จะใช้เวลาไม่นานเพียง 15 เดือนจะเปิดเดินรถได้ หากเปิดประมูลคัดเลือกผู้เดินรถรายใหม่จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี เมื่อคัดเลือกผู้เดินรถได้แล้วจะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาในครั้งต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น