บอร์ด รฟม.ชงรวมเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อกับสีน้ำเงินต่อขยาย ระบุดีที่สุด ขณะที่รวมกับสายเฉลิมรัชมงคลหวั่นแก้สัมปทานยุ่งยาก หลังเจรจา BEM ไม่ได้ข้อยุติ “ยอดยุทธ” เผยเร่งเสนอ “อาคม” ชง ครม.ให้ทัน 3 พ.ค.นี้ ชี้หาก BEM รับปากหากได้งานส่วนต่อขยายจะเร่งเปิด 1 สถานีปลายปีนี้ก่อน แต่หากเป็นรายอื่นได้สัมปทาน เปิดเดินรถต้องรอยาวถึง 3 ปี
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมบอร์ดรฟม.วาระพิเศษเร่งด่วน วันที่ 2 พ.ค. ว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลการเจรจาต่อรองระหว่างคณะกรรมการ มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่มีนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯรฟม. (ปฏิบัติการ) เป็นประธาน กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในการเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กม.เมื่อวันที่ 29 เม.ย. โดย BEM ยืนยันรับจ้างเดินรถแค่ 2 ปี ตามผลเจรจาเดิม ซึ่งบอร์ดได้พิจารณาข้อมูลบริษัทที่ปรึกษา ทั้งตัวเลขผู้โดยสาร ค่าใช้จ่าย รายได้ พบว่าหากรัฐต้องลงทุนในส่วนของ 1สถานีเองจะไม่คุ้มค่า
จึงมีมติเสนอ 2 ทางออก คือ 1. รวมงานเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อเข้ากับการเดินรถสายเฉลิมรัชมงคลโดยเจรจากับBEM เพื่อแก้สัญญาสัมปทานและผลประโยชน์กันใหม่ เนื่องจากต้องขยายการเดินรถต่อจากบางซื่อไปถึงเตาปูน ซึ่งการแก้ไขสัญญาสัมปทานมีความยุ่งยาก หรือ 2. รวมเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อเข้ากับการเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยจะเร่งสรุปเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 พ.ค. หรืออย่างช้าในสัปดาห์หน้า
โดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2557 ให้ กก.มาตรา 13 เจรจาตรง BEM ว่าจ้างเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะเวลาเดินรถ สิ้นสุดถึงปี 2572 เท่ากับสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งครั้งแรก BEM ระบุว่า จ้างเดินรถ 1 สถานีต้องต่อรถอย่างน้อย 2 ขบวน ซึ่งมีจำนวนน้อยทำให้ต้นทุนตัวรถสูง ถึง 400 ล้านบาทต่อขบวนจากปกติเฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อขบวน ในขณะที่ รฟม.ต้องการให้เก็บค่าโดยสารช่วง 1 สถานีที่ 2 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนจะทำให้ขาดทุนถึงปี 72 ประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากอัตราจริงต้องเก็บที่ 9.50 บาท ดังนั้น รัฐต้องชดเชยหรือรับภาระในส่วนนี้ ทาง BEM เสนอรับจ้างเดินรถ 1 ปี ค่าจ้าง 52 ล้านบาท โดยจะเดินสายเฉลิมรัชมงคลวิ่งต่อให้ 1 สถานี แต่ ครม.ไม่เห็นด้วย จึงต้องเจรจาใหม่และเสนอเป็นเดินรถเพิ่มเป็น 2 ปี ซึ่ง ครม.เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ตีกลับผลการเจรจา
“บอร์ด รฟม.เสนอ 2 ทางเลือกพร้อมข้อมูลประกอบที่ครบถ้วนอยู่ที่ ครม.จะตัดสินใจ หาก 1 สถานีได้ข้อยุติใน พ.ค.นี้จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณาการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ หากดูโครงสร้างของสายสีน้ำเงินส่วนเฉลิมรัชมงคล และส่วนต่อขยายจะเชื่อมต่อกันเป็นวงกลม โดยที่สถานีเตาปูนซี่งเชื่อมกับสายสีม่วง ระบบสายสีน้ำเงินจะอยู่ชั้น 2 ส่วนสายสีม่วงจะอยู่ชั้น 3 อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันว่าการทำงาน รฟม.ไม่ล่าช้า พยายามเร่งรัด โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม, ชมพู, เหลือง จะเปิดขายซองประกวดราคาก่อสร้างในเดิน มิ.ย.นี้” พล.อ.ยอดยุทธกล่าว
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ต่อคณะกรรมการ PPP คือ ขอเปลี่ยนจาก PPP Gross Cost (รัฐลงทุน 100% และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยจ้างเอกชนทำหน้าที่เดินรถ) เป็น PP Net Cost (รัฐเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนรับสัมปทานเดินรถและเก็บค่าโดยสารโดยแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ) และเสนอให้รวมเดินรถ 1 สถานีไปด้วย ซึ่งหากคณะ กก. PPP เห็นชอบจะสรุปเสนอผลต่อ ครม.และหลัง ครม.เห็นชอบ รฟม.จะตั้ง กก.มาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งคณะ กก.มาตรา 35 จะพิจารณาว่าจะเปิดประกวดราคาหรือใช้วิธีเจรจากับ BEM ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเปิดประกวดราคาหรือเจรจา หากเป็น BEM รายเดิมที่ได้งานเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ทาง BEM จะเร่งเปิดเดินรถ 1 สถานีให้ก่อนภายในปลายปี 2559 แต่หากเป็นรายอื่นที่ได้รับสัมปทานจะต้องรออีกอย่างน้อย 3 ปีจึงจะเปิดเดินรถได้