คจร. ไฟเขียว MOU โอนงานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต - คูคต) และสีเขียวใต้ (แบริ่ง - สมุทรปราการ) ให้ กทม. พร้อมดีเดย์เปิดนำร่อง 1 สถานี จากแบริ่ง - สำโรง กลางปี 60 “ผู้ว่าฯ รฟม. เร่งสรุปเสนอบอร์ดคาดเซ็น MOU ได้ใน เม.ย. เดินหน้าเจรจาชำระคืนค่าก่อสร้างให้ รฟม. กว่า 6 หมื่น ล. พร้อมไฟเขียวขยายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ ออกไป 5 กม. รฟม. เร่งปรับลดค่าก่อสร้างใหม่ตามนโยบายใช้วัสดุใน ปท.
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 15 มี.ค. เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารโครงการ โดยขั้นตอนจากนี้ รฟม. จะรายงานบอร์ด และลงนามใน MOU ร่วมกันคาดว่าประมาณเดือนเม.ย. จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อประเมินทรัพย์สิน ประสานงาน ติดตามผล อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รฟม. และ กทม. ได้หารือกันและประสานงานในการถ่ายโอนงานระบบให้ กทม. เนื่องจาก รฟม.จะต้องทำการก่อสร้างงานโยธา ทางวิ่ง วางราง สถานี ฯลฯ ให้แล้วเสร็จก่อน
โดย กทม. แจ้งว่า จะเปิดเดินรถสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ช่วง 1 สถานีแรกก่อนจากสถานีแบริ่ง - สถานีสำโรง ได้ประมาณกลางปี 2560 เนื่องจากเป็นการเดินรถยืดจากสายสีเขียวออกไปอีก 1 สถานี ซึ่งไม่ยุ่งยาก ซึ่งรองนายกฯ สมคิด เห็นด้วย เนื่องจากจะทำให้เห็นว่าโครงการมีความคืบหน้า ส่วนการชำระค่าก่อสร้างคืนให้ รฟม. ประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ประมาณ 21,000 ล้านบาท ช่วงหมอชิต - คูคต ประมาณ 39,000 ล้านบาท โดยจะต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้รับทราบเงื่อนไขการชำระคืนด้วย
นอกจากนี้ คจร. ยังเห็นชอบการต่อขยายแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ ออกไป 5 กม. โดยไปสิ้นสุดที่บริเวณถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก หลังจากนี้ รฟม. จะเร่งพิจารณารายละเอียดการปรับรูปแบบการก่อสร้างโรงจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) โดยลดขนาดให้เป็นอาคารจอดรถ หรือ Stabling Yard และสายสีม่วง อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียด รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามมติคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สถานีสามยอด และสถานีผ่านฟ้า โดยคาดว่าจะสรุปรายละเอียดเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. อนุมัติได้ประมาณเดือน เม.ย. จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการและเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาต่อไป
ทั้งนี้ ในการปรับค่าก่อสร้างนั้น รฟม. จะนำนโยบายในเรื่อง ไม่ฟุ่มเฟือย และใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณ เช่นเดียวกับการออกแบบรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี) โดยการต่อขยายออกไปอีกประมาณ 5 กม. ทำให้สายสีม่วงใต้มีระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุนรวม 131,171.94 ล้านบาท โดยมีสถานีเพิ่ม 2 สถานี คือ พระประแดง และครุใน (สุขสวัสดิ์ 70)