คจร.ประชุมเคาะรถไฟฟ้าสายใหม่ บรรจุในแผนแม่บทระยะ 2 กทม.ชงลงทุน 4 สาย บางนา-สุวรรณภูมิ, สีเทา, สีทอง และสายบางหว้า-ตลิ่งชัน ส่วน รฟม.ขอต่อสายสีม่วงใต้อีก 5 กม. และร่าง MOU โอนเดินรถสายสีเขียวเหนือและใต้ให้ กทม.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 15 มี.ค. จะมีการพิจารณากรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เสนอขอดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส จากบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยทราบว่าทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส จะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ซึ่งหาก คจร.เห็นชอบจะต้องพิจารณาในประเด็นพื้นที่ก่อสร้างเนื่องจากจะต้องใช้เขตทางถนนบางนา-ตราด ของกรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้มีตอม่อของทางด่วนบางนา-ชลบุรีบริเวณเกาะกลางแล้ว ดังนั้นหากต้องใช้บริเวณทางเท้าก่อสร้างจะมีผลกระทบอย่างไร
นอกจากนี้จะมีการพิจารณาการต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ออกไปอีกประมาณ 5 กม. รวมระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุนรวม 131,171.94 ล้านบาท โดยมีสถานีเพิ่ม 2 สถานี คือ พระประแดง และครุใน (สุขสวัสดิ์ 70) เนื่องจากยังไม่มีอยู่ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า ซึ่งการประชุม คจร.ครั้งนี้ถือเป็นการประชุมในรอบ 9 เดือน เนื่องจากครั้งล่าสุดประชุมเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ทำให้มีเรื่องที่พิจารณามาก
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เสนอผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชน 4 โครงการเพื่อบรรจุไว้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 ซึ่งหาก คจร.จะต้องให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำข้อมูลไปประเมินความเหมาะสม ต่อไป ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 14,000 ล้านบาท 2. รถไฟฟ้าสายสีเทา (โมโนเรล) รวมระยะทาง 39.94 กม. แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม. มี 15 สถานี วงเงิน 28,000 ล้านบาท 2. ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ระยะทาง 12.20 กิโลเมตร มี 15 สถานี 3. ช่วงพระราม 3-ท่าพระ ระยะทาง 11.49 กม. มี 9 สถานี
3. รถไฟฟ้าสายสีทอง (โมโนเรล) เชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีกรุงธนบุรี-เขตคลองสาน-ประชาธิปก รวม 2.7 กม. 4. รถไฟฟ้าสายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (LightRail) ระยะทาง 18 กม. ยกระดับตลอดสาย มี 12 สถานีหลัก และ 2 สถานีย่อย วงเงินลงทุน 25,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี แนวเส้นทางเริ่มจากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีบางนาผ่านศูนย์ประชุมแห่งชาติไบเทค, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา เข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผ่านพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 4 แห่งได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ องค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ และองค์การบริหารส่วนตำบลบางโฉลง
พร้อมขอความเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารโครงการ ซึ่ง กทม.ต้องจ่ายค่าก่อสร้างประมาณ 6 หมื่นล้านบาท คืนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่วนการเดินรถ กทม.จะจ้างบีทีเอส เป็นผู้เดินรถทั้ง 2 ช่วง โดยหลัง คจร.อนุมัติ ทาง รฟม.และ กทม .จะลงนามใน MOU ร่วมกันต่อไป