xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” สั่งลุยประมูลเมกะโปรเจกต์ ใช้ ม.44 ช่วยงานห้ามค้างท่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
“สมคิด” สั่งทุกหน่วยติดเกียร์ 5 เดินหน้าทุกโครงการเมกะโปรเจกต์เต็มสูบ ห้ามงานค้างท่อ และใช้ ม.44 เร่งชง ครม. เปิดประมูลระหว่างรอผล EIA “คจร.” รับทราบผลศึกษา กทม. ผุดรถไฟฟ้า 4 สาย มอบ สนข.พิจารณาความเหมาะสมก่อนบรรจุในแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะ 2 ด้าน สนข.เร่งตั้ง Clearing House และ CTC บริหารระบบตั๋วร่วม เผย ส.ค.ใช้กับสายสีน้ำเงินและสีม่วงได้ และ ธ.ค. 59 ใช้กับ BTS แอร์พอร์ตลิงก์และทางด่วนด้วยบัตรใบเดียว

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 15 มี.ค. รับทราบผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แก่ สายสีเขียวอ่อนต่อขยาย ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กม. มี 6 สถานี มูลค่าประมาณ 14,804 ล้านบาท และโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบรอง คือ สายสีเทา, สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสายสีทอง โดยมอบให้ สนข.พิจารณาความเหมาะสมของแนวเส้นทาง ศึกษาทบทวนเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 เช่น มีผลกระทบต่อเส้นทางโครงข่ายของสายหลักหรือไม่ หรือเสริมระบบหลักอย่างไร เช่น สายสีเทานั้น ผลการศึกษาของ กทม.เสนอมานั้นแตกต่างจากเส้นทางใน M-Map โดยให้ประสานการดำเนินงานกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือที่มีแนวเส้นทางใกล้เคียงกัน โดย สนข.จะของบประมาณปี 2560 จ้างที่ปรึกษาศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะ 2

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเทา (โมโนเรล) ผลศึกษาของ กทม.เสนอควรปรับปรุงเส้นทางเดิมตาม M-Map จากวัชรพล-พระราม 9 เป็นช่วงวัชรพล-ท่าพระ ระยะทาง 39.91 กม. มี 39 สถานี แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม. มี 15 สถานี วงเงินประมาณ 27,544 ล้านบาท 2. ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ระยะทาง 12.17 กิโลเมตร มี 15 สถานี 3. ช่วงพระราม 3-ท่าพระ ระยะทาง 11.49 กม. มี 9 สถานี รถไฟฟ้าสายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Light Rail) ระยะทาง 19.2 กม.วงเงินประมาณ 27,892 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-เขตคลองสาน-ถนนประชาธิปก) ระบบรถไฟฟ้านำทางอัตโนมัติ (Automated Guided Transit : AGT) ระยะทาง 2.7 กม. วงเงินประมาณ 3,845.6 ล้านบาท

“รองนายกฯ เร่งรัดทุกโครงการให้เดินหน้าเต็มที่ห้ามมีโครงการค้างท่อ หากโครงการใดอยู่ในขั้นตอน EIA ให้เดินหน้าเสนอขออนุมัติ ครม.และเปิดประมูลรอไว้ก่อนแต่ยังเซ็นสัญญาไม่ได้จนกว่า EIA จะผ่าน ซึ่งเป็นไปตามประกาศ คสช. มาตรา 44 ซึ่งเชื่อว่าในภาพรวมจะช่วยลดระยะเวลาในแต่ละโครงการได้อย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจากไม่ต้องรอให้ผ่าน EIA แล้วค่อยเสนอ ครม.อนุมัติเปิดประมูลเหมือนเดิม” แหล่งข่าวกล่าว

***ส.ค. 59 เริ่มใช้ตั๋วร่วม “สีน้ำเงิน-สีม่วง”

พร้อมกันนี้ รับทราบความคืบหน้าระบบตั๋วร่วม โดยผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีข้อสังเกตให้พิจารณาในเรื่องโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร ค่าแรกเข้า เนื่องจากระบบตั๋วร่วมจะเป็นเครื่องมือในการให้บริการระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะการลดค่าแรกเข้า ซึ่ง สนข.รายงานความคืบหน้าเรื่องตั๋วร่วมต่อกระทรวงคมนาคมก่อนรายงาน ครม.รับทราบต่อไป

โดยตามแผนภายในเดือน ส.ค.นี้จะเป็นการใช้ตั๋วร่วมสำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงในรูปแบบใช้บัตรใบเดียวกันได้ แต่ยังมีรอยต่อช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ที่ยังไม่สามารถเปิดเดินรถได้ทัน และภายในปลายปี 2559 จะสามารถใช้ระบบตั๋วได้เพิ่มเติมกับบีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ และทางด่วน (โดยใช้ในช่องเงินสดใช้บัตรแตะแทนจ่ายเงินสด) ทั้งนี้ จะต้องเร่งสรุปจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Clearing House) พร้อมกับหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company : CTC) ซึ่งจะเป็นการร่วมทุน PPP ตามขั้นตอนพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อให้ทันปลายปีนี้

ทั้งนี้ ในการจัดตั้ง CTC นั้นจะใช้วิธีการเจรจากับผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่แล้วเข้ามาร่วม ทั้งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) โดยการลงทุนระบบเบื้องต้นประมาณ 700-800 ล้านบาทนั้นจะเป็นส่วนรัฐที่จะถือหุ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น