xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯสั่งราคาต้องถูก คนจนขึ้นรถไฟฟ้าได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บิ๊กตู่"เปิดทดสอบระบบรถไฟสายสีม่วงช่วง บางใหญ่-เตาปูน พร้อมทดลองนั่ง1สถานี กำชับนโยบาย ค่าโดยสารต้องถูก เพื่อให้คนจนขึ้นได้ ลดความเหลื่อมล้ำ สั่งบูรณาการวางแผนออกแบบเป็นระบบ ใช้ของในประเทศ เล็งต่อไปต้องประกอบรถไฟฟ้าได้ในประเทศ ไม่ใช่ซื้อมาทั้งคัน พร้อมเปิดเอกชนร่วมทุน(PPP) มากขึ้น ชี้เมื่อลงทุนต่ำ ค่าโดยสารจะถูกตามไป ส่วนสีน้ำเงินส่วนต่อขยายล่าช้า ติดปัญหาคัดเลือกเดินรถ เลื่อนเปิดเป็นปี62

วันนี้ (14 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการทดสอบเดินรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ณ อาคารศูนย์ซ่อมบำรุง คลองบางไผ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และพิธีฉลองความสำเร็จการเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ) สัญญา 2 ช่วงสนามไชย-ท่าพระ สถานีสนามไชย โดยมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มาชน) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง โดยมีศาตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) Mr. Shrio Sadoshima เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พลเอกพลไพบูลย์ คุ้มฉายารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลเอกวิลาส อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ชงการช่าง เข้าร่วม

ทั้งนี้ นายกฯ ได้ทดลองนั่งรถไฟฟ้าจากศูนย์ซ่อมบำรุง คลองบางไผ่ ไปยังสถานีบางไผ่ ระยะทางไป-กลับประมาณ 5 กม. ซึ่งถือเป็นการเริ่มทดสอบการวิ่งบนเส้นทางที่จะให้บริการอย่างเป็นทางการเพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานทุกระบบสอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ตามมาตรฐานสากลภายหลังจากที่ได้ดำเนินการวิ่งภายในศูนย์ซ่อมบำรุงแล้ว

โดยบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เป็นผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ซึ่งBMCL เป็นผู้ลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้า ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นเวลา 30 ปี โดยกำหนดเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการเสมือนจริงประมาณเดือนพ.ค.2559 และเปิดให้เดินรถเป็นทางการในเดือนส.ค.59 และสัญญาสัมปทานสิ้นสุดปี 2586

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รถไฟฟ้าเป็นโครงการที่สำคัญและมีประโยชน์ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาการจราจรอย่างมาก จึงต้องการให้เร่งรัดการเปิดเดินรถสายสีม่วง แต่ต้องคำนึงถึงความสะดวกและปลอดภัยด้วย ซึ่งยังต้องทดสอบอีกหลายเดือน โดยเดือนพ.ค.2559จะเปิดให้ประร่วมทดลองโดยไม่เก็บค่าโดยสารจนถึงเดือนส.ค.2559 ซึ่งกำหนดเปิดบริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งนโยบายสำคัญคือ การให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้ แต่อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ 14-42 บาทนั้นถือว่าสูงสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งปัญหาเพราะที่ผ่านมาคิดเป็นช่วงๆ คิดเป็นเส้นๆ ทำทีละตอน ทำให้ใช้เงินลงทุนสูง

ต่อไปนี้แนวคิดในการทำโครงการต้องเกิดประโยชน์สูงสุด การก่อสร้างต้องวางแผนทั้งระบบ ดูโครงข่ายตั้งแต่วงนอกกรุงเทพฯจนถึงกรุงเทพฯชั้นใน จะทำอย่างไร จะเชื่อมกันอย่างไร ต้องคิดรวมกัน และต้องไปคิดเพิ่มว่า จะมีรถไฟฟ้ารูปแบบอื่นที่ลงทุนถูกกว่านี้ เพื่อให้คนมีรายได้น้อยสามารถใช้ได้ ต้องบูรณาการกันเพื่อให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน ลดปัญหาจราจร ลดมลภาวะ และต่อไปในอนาคตศูนย์ควบคุมการเดินรถต้องใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าใครจะมารับงานเดินรถจะต้องเข้ามาร่วมทุนและใช้ศูนย์ควบคุมเดียวกันได้ ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ รถไฟจะต้องต่อกันได้หมด ซึ่งได้มอบหมายให้พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีไปทำแผนขับเคลื่อน

ส่วนเรื่องตัวรถไฟฟ้า โครงการต่อๆไป อยากให้สามารถเชื่อมโยงกับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ เน้นใช้วัสดุภายในประเทศให้มากที่สุด ไม่ใช่สั่งซื้อมาทั้งคันแบบนี้ เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศ วันนี้ต้องเริ่ม อาจจะเป็นการนำชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศก่อน ซื้อบางส่วนใช้ในประเทศบางส่วนอนาคตสามารถผลิตได้หรือตั้งโรงงานผลิตได้ ถ้าเมืิ่อ 10 ปีก่อนคิดแบบนี้วันนี้เราผลิตรถไฟฟ้าได้แล้ว ส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่รฟม.เวนคืนมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดเดิมกำหนดกิจการใดก็ต้องใช้เฉพาะกิจการนั้น ในทางธุรกิจลำบาก ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนร่วม ดังนั้น ทีโออาร์จะต้องเขียนให้ชัดเจนราคาเท่าไร

จะพัฒนาต่อยอดได้อย่างไร อย่าคิดเฉพาะส่วน และต้องเปิดเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เพิ่ม ทั้งตัวรถ และที่จอดรถเพื่อให้ประชาชนมาใช้รถไฟฟ้า ไม่ใช่เขียนโครงการเสนอขออนุมัติก่อสร้างแล้วมีแต่สร้างหนี้ รัฐบาลไม่มีเงินเหลือ เพราะยังมีภาระอื่นที่ต้องไปดูแลอีกหลายอย่าง

"ถ้าหากสามารถใช้วัสดุในประเทศได้มากราคาจะถูก เป้าหมาย ต้องการให้ประหยัด ปลอดภัย สร้างความเข้มแข็งในประเทศ ส่วนการใช้ที่ดิน ต้องออกแบบเพื่อให้มีชั้น 2 ชั้น 3 ทำเป็นเชิงธุรกิจ ศูนย์การค้า ต่างๆ เพื่อหารายได่มาชดเชยการลงทุน แบบนี่จะทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้ รัฐบาลไม่มีเงินจำนวนมากไปลงทุน ต้องขอความร่วมมือจากเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เอากำไรลดลงหน่อย ขอกำไรให้ประชาชน ประเทศชาติ ผมจะพยายามทำให้เกิดความขัดเจนภายในรัฐบาลนี้ นโยบายผมต้องการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน คนมีรายได้น้อยต้องมีโอกาสได้ใช้บริการรถไฟฟ้า"นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งขณะนี้มีความล่าช้า ว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อใด พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ที่ล่าช้าเพราะมีความขัดแย้ง เรื่องว่าจะเปิดประมูลหรือเจรจา ซึ่งตอนนี้ต้องเร่งรัด ให้เกิดให้ได้ โดยรฟม.แจ้งว่าจะเปิดให้บริการในปี 2562

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะทาง 23 กม. มีสถานียกระดับ 16 สถานี อาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง โดยปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาเสร็จสมบูรณ์แล้ว คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารประมาณ 60,000 คน/ชม./ทิศทาง

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ขณะนี้การก่อสร้างงานโยธา คืบหน้าไปแล้วกว่า 70% ซึ่งขณะนี้การขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่เจ้าพระยาได้ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้ง 2 อุโมงค์ใช้เวลาประมาณ 2 ปี อย่างไรก็ตามรฟม.ได้พยายามเร่งรัดเปิดเดินรถภายในปี 2562 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาหาเอกชนเข้ามาเดินรถโดยรฟม. ได้ส่งรายงานการคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมทุนตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว และคาดว่าทางกระทรวงจะพิจารณาเสร็จประมาณเดือนธ.ค.2558 นี้หลังจากนั้นจะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการนโยาบายรับวิสาหกิจ(สคร.)เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการPPP) เพื่อเลือกแนวทางการสรรหาเอกชนเข้ามาเดินรถคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.พ.2559 และจะเสนอเข้าครม.เพื่ออนุมัติได้ในเดือนมี.ค.2559

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวว่า บริษัทได้สั่งผลิตขบวนรถไฟฟ้าจาก บริษัท Japan Transport Engineering Company หรือ J-TREC ประเทศญีุ่ปุ่น จำนวน 21 ขบวน รวม 63 ตู้ โดย 3 ขบวนแรก (9ตู้) ได้ส่วมอบถึงประเทศไทยเมื่อเดือนก.ย. 2558 และ3 ขบวนถัดมา(9ตู้) ส่วมอบถึงประเทศไทย เมื่อเดือนพ.ย.2558และที่เหลือจะทยอยส่งมอบ อีก 3 ครั้งๆ ละ 5 ขบวน (15 ตู้)โดยจะส่งมอบครบในเดือนก.พ.2559 โดยเมื่อขบวนรถไฟฟ้ามาถึง จะเริ่มทดสอบระบบย่อยต่างๆ ในแต่ละส่วนของระบบรถไฟฟ้าอันเป็นส่วนต่อเนื่องยากโรงงานและทดสอบในรางวิ่งทดสอบ (Test Track) ภายในศูนย์ซ่อมบำรุง ได้แก่ ระบบควบคุมการขับเคลื่อนรถไฟฟ้า ระบบเบรค เป็นต้น โดยถึงเดือนพ.ย.2558 งานเดินรถมีความคืบหน้า 85.34%
กำลังโหลดความคิดเห็น