xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะ 4.4 หมื่นล้าน สร้างสายสีแดง “Missing Link” แก้จุดตัดรถไฟ สั่ง “สมคิด” ร่วมตรวจ TOR แก้ครหาล็อกสเปก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.อนุมัติรถไฟสายสีแดง (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 25.9 กม. วงเงิน 4.4 หมื่นล้าน “ออมสิน” เผยนายกฯ สั่ง “สมคิด” ตรวจสอบทีโออาร์ก่อนส่ง คตร.เคาะเพื่อแก้ปัญหาร้องเรียนล็อกสเปก คาดเร่งประมูลได้ใน ก.ย.นี้ เริ่มสร้างต้นปี 60 เปิดเดินรถปี 64 แก้ปัญหา 13 จุดตัดทางรถไฟกลางเมือง พร้อมเร่ง ร.ฟ.ท.ทำแผนเดินรถชี้แจง คนร.

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค. มีมติอนุมัติการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเป็นมติ ครม.ให้โครงการที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท เมื่อจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) แล้วให้เสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อนเสนอคณะกรรมการคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อตรวจสอบและแก้ครหาเรื่องล็อกสเปก และให้เจรจากับผู้บุกรุกเขตทางรถไฟให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารับค่าชดเชยแล้วไม่ยอมย้ายออก โดยจะมีการเวนคืนพื้นที่ 2 แปลงบริเวณพญาไท จำนวน 78.40 ตารางวา และโยกย้ายผู้บุกรุก 1,030 หลังคา ช่วงยมราช-หัวลำโพง กรอบชดเชย 191 ล้านบาท

ทั้งนี้ สายสีแดง (Missing Link) มี 9 สถานี แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ (Elevated) 4 สถานี (พญาไท-มักกะสัน-รามคำแหง-หัวหมาก) โครงสร้างระดับใต้ดิน 2 ชั้น มี 3 สถานี (สามเสน-ราชเทวี-ยมราช) และโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน (At Grade) มี 2 สถานี (ยศเส-หัวลำโพง) ซึ่งโครงการจะแก้ปัญหาจราจรจุดตัดทางรถไฟได้ ตลอดแนวรวม 13 จุด ประกอบด้วย ประดิพัทธ์, เศรษฐศิริ, ระนอง, นครไชยศรี, ราชวิถี, ศรีอยุธยา, ยมราช, พระราม 6, พญาไท, ราชปรารภ, อโศก, รามคำแหง, ศรีนครินทร์ โดยในการก่อสร้างจะผสมผสานโครงสร้างทางวิ่งแบบคลองแห้ง (Open Trench and Cut & Cover Tunnel) โดยเฉพาะช่วงสถานีสามเสน-ยมราชนั้นจะมีโครงสร้างของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) ร่วมในพื้นที่เดียวกันด้วยนั้น เบื้องต้นจะมีการเตรียมพื้นที่ไว้เผื่อแอร์พอร์ตลิงก์ไว้เลย ซึ่งจะลดวงเงินค่างานโยธาของแอร์พอร์ตลิงก์ลง 1,300 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 31,139.35 ล้านบาท

โดยแบ่งการจัดจ้างออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธา ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-มักกะสัน ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร วงเงิน 15,608 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งานโยธา ช่วงมักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงิน 6,998 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้าวงเงิน 17,300 ล้านบาท โดยมีค่าที่ปรึกษาควบคุมงาน 2.7% ของวงเงินรวม (4.47 หมื่นล้านบาท) มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 29.91% ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 13% โดยคาดว่าจะเสนอร่าง TOR ภายในเดือน ส.ค.และเปิดประมูลในเดือน ก.ย. 2559 ทำสัญญาและเริ่มก่อสร้างต้นปี 2560 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ในปี 2564

“มีความเห็นจากสำนักงบประมาณเกี่ยวกับวงเงินค่าจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าสำหรับสาย Missing Link ที่ 95 ล้านบาท/ตู้ ขณะที่ราคารถของสัญญา 3 สายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต) อยู่ที่ 80 ล้านบาท/ตู้ นั้น ได้ชี้แจงไปแล้วว่าเป็นการประเมินของที่ปรึกษา ซึ่ง Missing Link สร้างทีหลังจึงใช้อัตราสูงสุดของค่าตัวรถ” นายออมสินกล่าว

สำหรับการเดินรถของสาย Missing Link นั้น เดิมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้เอกชนเดินรถ หรือเปิด PPP แต่เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เสนอที่จะเดินรถเองเพราะทั้งสายสีแดง และสาย Missing Link ได้ดำเนินการก่อสร้างและลงทุนจัดหาระบบรถไปแล้ว ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งทำแผนการบริหารสายสีแดงว่าจะไม่ขาดทุนและมีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะ คนร.ยังไม่แน่ใจและความเป็นไปได้ของตัวเลขจำนวนผู้โดยสารและสมมติฐานต่างๆ ในการที่ ร.ฟ.ท.จะเดินรถเอง เสนอมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ก่อนเสนอไปยัง คนร.
กำลังโหลดความคิดเห็น