โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 ซึ่งมี 20 ครงการ วงเงินลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท เครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเร่งรัดการประกวดราคาเพื่ออัดเม็ดเงินเข้าระบบในปี 2559 ให้มากที่สุด พบมอเตอร์เวย์ 3 สายเปิดประมูลฉลุย ส่วน รฟม.ดันเปิดประมูลรถไฟฟ้ารวด 3 สาย เหลือ ร.ฟ.ท.ต้องลุ้น รถไฟทางคู่รถไฟความเร็วสูง 2 สายยังอืด ด้าน “อาคม” สั่งปั้น Action Plan ปี 2560 อัดลงทุนต่อเนื่อง จัดทัพทางคู่อีก 8 เส้นทาง มอเตอร์เวย์ ทางด่วน
จากการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนปฏิบัติการปี 2559 ถึงวันที่ 22 ก.ค. พบว่าการดำเนินโครงการต่างๆ ยังเป็นไปตามเป้าหมายซึ่งการบรรจุโครงการไว้ในแผนนั้นหมายถึงจะต้องเปิดประมูลได้ภายในปี 2559 โดยในเดือน ก.ค.นี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าได้ถึง 3 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,490 ล้านบาท และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 51,810 ล้านบาท จะสรุปการพิจารณาข้อเสนอใน ม.ค. 2560 ลงนามสัญญาใน เม.ย. 2560
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21 กม. มูลค่า 109,540 ล้านบาท ขายซองประมูลเมื่อ 15-29 ก.ค. คาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอจบใน ก.พ. 2560 ลงนามสัญญาก่อสร้าง พ.ค. 2560 ส่วนงานเดินรถอยู่ระหว่างจัดทำรายงานวิเคราะห์ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 (PPP)
ขณะนี้ รฟม.เหลือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีการเปลี่ยนแปลงแผนงานในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ตามแผนจะเสสอ ครม.ใน ก.ค.-ส.ค. เปิดประมูลช่วง พ.ย. 2559
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อาจต้องออกแรงดันมากกว่าหากไม่ต้องการให้โครงการหลุดเป้าหมาย โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง เพิ่งเปิดประมูลไปได้สายเดียว คือ ช่วง ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 23,802.53 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างไปเมื่อ มี.ค. 2559 ขณะนี้คืบหน้า 2.99%
ส่วนอีก 5 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม, วงเงิน 17,249.90 ล้านบาท ครม.เห็นชอบตั้งแต่ 26 เม.ย. 2559 อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) เพื่อเปิดกว้างและแก้ข้อครหาล็อกสเปก ให้เป็นมาตรฐานตามความเห็นของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) 2. ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 26,004 ล้านบาท ผ่านบอร์ด สศช.แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อเตรียมเสนอ ครม.ต่อไป
3. ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,036.53 ล้านบาท 4. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท รอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณา EIA ขณะที่คาดว่าบอร์ด สศช. จะพิจารณาในต้นเดือนส.ค. จากนั้นจะเสนอ ครม.ขออนุมัติได้ และ 5. ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 10,301.95 ล้านบาท ผลศึกษา EIA ยังไม่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะเข้าบอร์ด สศช.รอบ ส.ค.นี้
“ตอนนี้เหลือแค่ความเห็นหน่วยงานและการพิจารณาร่างTOR ของ คตร. และล่าสุด ครม.สั่งให้รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาช่วยตรวจสอบ TOR โครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทด้วย ส่วนรถไฟความเร็วสูง กทม.-หัวหิน และ กทม.-ระยอง ยังเหลือทำรายละเอียดเรื่องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สองข้างทางเพิ่มเติม”
ส่วนมอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม.วงเงิน 17,819.47 ล้านบาท ประมูลครบทั้ง 13 สัญญาแล้ว ก่อสร้างคืบหน้า 1.313%, สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน76,600 ล้านบาท แบ่งงานโยธา 40 ตอน คาดว่าจะลงนามสัญญา 25 ตอนใน ส.ค.นี้ และอีก 15 ตอน เปิดประมูล ก.ย.-ธ.ค.นี้, สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม.วงเงิน 49,120 ล้านบาท แบ่งงานโยธา 25 ตอน ประมูลแล้ว 9 ตอน ก 16 ตอน ประมูลใน ก.ย. ส่วนสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงิน 50,322.22 ล้านบาท ประมูลแล้ว 2 สัญญา จาก 7 สัญญา
“อาคม” สั่งทำแผนปี 60 จัดเมกะโปรเจกต์ อัดลงทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนล้าน
โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการปี 2560 ซึ่งเบื้องต้นจะมีรถไฟทางคู่ อีก 8 เส้นทาง ได้แก่ 1. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 49,951.13 ล้านบาท 2. ปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 64,921.05 ล้านบาท 3. ขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 23,727.34 ล้านบาท 4. เด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 63,353.88 ล้านบาท 5. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 34,726.36 ล้านบาท 6. สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา วงเงิน 51,065.38 ล้านบาท 7. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 13,271.20 ล้านบาท 8. สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต (ทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว) วงเงิน 19,059.50 ล้านบาท
รถไฟฟ้าได้แก่ สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,120 ล้านบาท สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม วงเงิน 85,288 .54 ล้านบาท สายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 9,529.54 ล้านบาท และช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 9,236.07 ล้านบาท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง วงเงิน 31,139.35 ล้านบาท
และยังมีมอเตอร์เวย สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. วงเงิน 80,600 ล้านบาท และทางด่วน สายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.923 กม. มูลค่าโครงการ กว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมถึงรถไฟสายสีแดง ส่วนต่อขยายจากรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6,018 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา/ตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 17,966.16 ล้านบาท และรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 76,980 ล้านบาท สายบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 60,353 ล้านบาท