ตอกย้ำรถไฟเป็นดินแดนสนธยา “ออมสิน” เผยเพิ่งรู้ข่าวไฟไหม้ รถ JR-West ในโรงงานมักกะสัน สั่ง “วุฒิชาติ” ผู้ว่าฯ การรถไฟ แจงรายละเอียดแล้ว ขณะที่ระบุความเสียหายไม่มาก ไม่เป็นสาระสำคัญ ไม่จำเป็นต้องรายงานด่วน ด้านผู้ว่าฯ ปฏิเสธไม่ได้ให้บริษัทเอกชนเข้าไปดัดแปลงรถ JR-West 4 คัน โดยไม่มีสัญญาจ้าง ระบุเหตุไฟไหม้เหตุสุดวิสัย บริษัทติดตั้งผ้าใบคลุมทางเดินรอยต่อระหว่างตู้ โดยเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ภัทรภัณฑ์ ต้นเหตุไฟไหม้เป็นน้ำยาสารดับเพลิงที่ใช้ไปเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้รถ JR-West ในระหว่างมีการดัดแปลงภายในโรงงานมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับมีคำสั่งให้ปกปิดข้อมูล ขณะที่มีการยืนยันว่ารถที่เกิดเหตุไฟไหม้ดังกล่าวนั้น การรถไฟฯ ยังไม่ได้รับอนุมัติและทำสัญญาจ้างตามกระบวนการแต่อย่างใดนั้น นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการรถไฟฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าว “ผู้จัดการรายวัน 360 องศา” ว่าไม่ได้รับรายงานเหตุไฟไหม้รถ JR-West ดังกล่าว เพิ่งทราบว่าจากหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 5 ก.ย.นี้ ซึ่งได้สั่งการให้นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟฯ ทำรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสาเหตุให้ทราบโดยเร็วแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุไฟไหม้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. เหตุใดผู้บริหารการรถไฟฯ จึงไม่รายงานให้ทราบ นายออมสินกล่าวว่า “ผมเพิ่งทราบ ตามที่เป็นข่าวเท่าที่ทราบรถไฟมีการปรับปรุงรถ JR-West ไฟไหม้ที่เกิดขึ้น ทางการรถไฟฯ อาจมองว่าไม่ใช่ประเด็น เป็นไฟไหม้ธรรมดา ความเสียหายไม่มาก ไม่มีความโกลาหลอะไร คาดว่าในวันอังคาร ที่ 6 ก.ย.จะได้รับทราบข้อเท็จจริงมากขึ้น”
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ รถ JR-West นี้การรถไฟฯ ได้รับมาจาก West Japan Railway Company หรือ JR-West ประเทศญี่ปุ่น ในรูปแบบให้ฟรีจำนวนกว่า 60 คัน รถดังกล่าวมีขนาดล้อกว้าง 1.065 เมตร ขณะที่รางรถไฟไทย กว้าง 1 เมตร ดังนั้น เมื่อรับมอบมาจะมีการดัดแปลงโดยดันล้อให้มีขนาดกว้าง 1 เมตรเพื่อให้วิ่งบนรางรถไฟของไทยได้ ต่อมาเมื่อสภาพเครื่องยนต์ดีเซลและระบบแอร์เสื่อมสภาพหาอะไหล่ไม่ได้จึงถอดเครื่องยนต์ออกและทยอยดัดแปลงตัวรถเพื่อนำมาใช้งานในลักษณะตู้พ่วงในรูปแบบต่างๆ
อย่างไรก็ตาม กรณีเกิดเหตุไฟไหม้ภายในโรงงานมักกะสัน ที่ผ่านมาตามระเบียบรถไฟนั้นผู้รับผิดชอบฝ่ายช่างกลจะต้องออกหนังสือแจ้งผู้เกี่ยวข้องให้รับทราบ รวมถึงแจ้งตำรวจในพื้นที่ คือ สถานีตำรวจรถไฟ หรือสถานีตำรวจดินแดง ซึ่งการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบการแจ้งข้อมูลใดๆ ตามระเบียบ ขณะที่รถ JR-West แม้ว่าจะได้ฟรีมาจากญี่ปุ่นแต่ในกระบวนการส่งมอบจะมีค่าขนส่งและถือเป็นทรัพย์สินของการรถไฟฯ เมื่อเกิดความเสียหายจะต้องมีการลงบันทึกบัญชีด้วย
โดยวันที่ 5 ก.ย. เวลาประมาณ 17.29 น. การรถไฟฯ ได้ออกข่าวชี้แจงกรณีไฟไหม้รถ JR-West โดยนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ การรถไฟ ระบุว่าจากการตรวจสอบเหตุไฟไหม้รถ JR WEST ที่โรงงานมักกะสัน พบว่าเมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 29 ส.ค. 2559 เจ้าหน้าที่บริษัท ภัทรภัณฑ์ฯ ได้เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมดัดแปลงและติดตั้งโครงกูบ รถ บนท.ป.237 แต่เมื่อเวลา 10.45 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการรื้อถอดโครงกูบเก่าออกโดยใช้เครื่องตัดแก๊สตัดออกได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น เจ้าหน้าที่จึงได้ช่วยกันดับไฟเพื่อไม่ให้เพลิงลุกไหม้ไปในวงกว้างมากขึ้น เมื่อเพลิงดับลงเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เพลิงไหม้ในรถ บนท.ป.237 โดยในส่วนโครงสร้างภายใน ภายนอกของตัวรถไม่มีความเสียหาย เนื่องจากอุปกรณ์ภายในตัวรถได้รื้อถอนออกมาหมดแล้วคงเหลือเฉพาะแต่โครงเหล็ก ส่วนค่าเสียหายที่บริษัทภัทรภัณฑ์ฯ ต้องรับผิดชอบ คือ น้ำยาสารดับเพลิงที่ใช้ไปในครั้งนี้ โดยบริษัทจะต้องนำถังดับเพลิงบรรจุก๊าซให้เต็มและส่งมอบคืนการรถไฟฯ
นายวุฒิชาติระบุว่า ไม่ได้ให้บริษัทเอกชนเข้าไปดัดแปลงรถ JR-West 4 คัน เป็นรถจัดเช่าพิเศษ ก่อนมีการทำสัญญาว่าจ้าง และน่าจะเป็นเหตุเข้าใจผิด โดยระบุว่าบริษัทเอกชนที่เข้าไปนั้น คือ บริษัท ภัทรภัณฑ์ มาร์เก็ตติง จำกัด ซึ่งได้เข้าไปดำเนินการซ่อมแซมเพื่อติดตั้งกูบ (ผ้าใบคลุมทางเดินบริเวณข้อต่อของตู้โดยสารกับตู้โดยสาร) พร้อมติดตั้งโครงกูบผลิตด้วยเหล็ก เชื่อมประกอบแล้วทาสีและยึดต่อกับตัวรถด้วยสลัก จำนวน 7 ชุด เป็นวงเงิน 874,832 บาท และมีกำหนดส่งมอบงานภายใน 30 วัน ซึ่งได้ว่าจ้างตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 2559
ส่วนโครงการดัดแปลงรถ JR-West เป็นรถจัดเช่าพิเศษ หรือ SRT Prestige เป็นอีกโครงการหนึ่งของ
การรถไฟฯ ที่อยู่ในขั้นตอนดำเนินโครงการ ซึ่งล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2559 ที่ประชุมได้อนุมัติให้มีการดัดแปลง JR-West ก่อนจำนวน 2 คัน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการอนุมัติการจัดจ้างหรือเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาดัดแปลงตัวรถแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นอีก จึงได้สั่งการให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ เข้าควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยหากเกิดเหตุความเสียหายแก่การรถไฟฯ บริษัทจะต้องรับผิดชอบตามความเป็นจริงต่อไป